วันนี้ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิง ธุรกิจภาคกลางคืน และธุรกิจอิสระ อาทิ ฟิตเนส ธุรกิจรับจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ ผับ บาร์ เข้าพบ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หลังได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก นานกว่า 200 วัน ซึ่งกังวลว่าธุรกิจไปต่อไม่ไหว
นายปริญญ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้เห็นกลุ่มอาชีพธุรกิจกลางคืน สถานบันเทิง และอาชีพอิสระ ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของภาครัฐในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และออกมาเรียกร้องเรื่องนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ จึงประสานงานในการพาตัวแทนผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าพบผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. เพื่อแบ่งปันมุมมองและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และถ้าเป็นไปได้ อยากเสนอแนะให้ ศบค. เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่างๆ เข้าไปร่วมการประชุมก่อนออกมาตรการใหม่ทุกครั้งด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันทำให้มาตรการของภาครัฐเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น
นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร เจ้าของร้าน The Rock Pub กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน สถานบันเทิงและธุรกิจอิสระ ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง เป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำความสะอาดร้านตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กักตัว
2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืนและสถานบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศบค. และกรมควบคุมโรค อย่างเคร่งครัด
3. ขอให้ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ยืนยันว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อ
4. ขอให้ผ่อนปรนให้สามารถจัดมหรสพในพื้นที่ปิดได้ โดยต้องจัดที่นั่งแบบ 2 เว้น 1 และรักษาระยะห่างตามความเหมาะสม
5. ขอให้พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอิสระเร็วที่สุด โดยให้มีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงไปพร้อมกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
6. ขอให้พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว โดยพิจารณาการงดเว้นเก็บภาษาบางประเภท เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษาใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ภาษีป้าย เป็นต้น
7. ขอให้เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ทราบถึงมุมมอง ผลกระทบ ความยากลำบากของผู้ประกอบอาชีพแต่ละกลุ่ม ก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ
8. ขอให้ ศบค. หารือกับกระทรวงแรงงาน ให้ผ่อนปรนเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน กรณีที่นายจ้างต้องลดเงินเดือนพนักงานลงเป็นการชั่วคราว เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ แทนการปลดพนักงานออก
ด้าน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.ทราบดีถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ แต่มาตรการของภาครัฐที่ออกมาเกิดจากความเห็นชอบร่วมกันของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพราะการฟื้นฟูสถานการณ์ในวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มีแค่ในแง่ของสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ศบค. พร้อมรับฟังปัญหาของทุกคน และหลังจากนี้จะพยายามหารือมาตรการช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรมที่ทำให้แต่ละฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด