ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด 19 วัคซีน การตรวจหาภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน ไม่มีความจำเป็น มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตรวจหาภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน กันมาก ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาภูมิต้านทาน
มีการตรวจหาภูมิต้านทานกันมาก แต่ละห้องปฏิบัติการ น้ำยาที่ใช้ตรวจ หลากหลายชนิดกันมาก ยังไม่มีมาตรฐานกลาง เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
หน่วยที่ใช้วัดก็แตกต่างกัน เช่นเป็น AU (Arbitrary Unit) ตามพจนานุกรม Arbitrary แปลว่า โดยพลการ หรือตามอำเภอใจ หน่วยเป็นยูนิตก็มี ยังไม่มีมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลกที่เข้ามาปรับ หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มี เป็นตัวเลขการทำให้เจือจางก็มี เช่น 1:20, 1:40, 1:80 และยังมีการใช้วิธีการตรวจแบบรวดเร็วอีก โดยการหยดเลือดแล้วดูแถบสี ซึ่งความถูกต้องต่ำมาก
การแปรผลจะมีการสับสนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าถือแค่ว่าตรวจพบหรือไม่พบ จะพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตรวจพบ ถ้าทำวิธีที่ไว แล้วเมื่อพบก็บอกไม่ได้ว่าระดับเท่าไหร่ที่จะป้องกันโรคได้ และยิ่งเปรียบเทียบต่างห้องปฏิบัติการ ต่างวิธีจะเห็นว่าตัวเลขแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการสับสนมากในขณะนี้ จึงเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเงินทอง ออกต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก
เมื่อตรวจแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวมาตัดสินใจ ในการป้องกันหรือการให้วัคซีนเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างความสบายใจหรือไม่สบายใจเกิดขึ้น และเสียเงินทองโดยใช่เหตุ ยิ่งในยามขณะนี้ เราจะต้องประหยัดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย
การตรวจดังกล่าวขอให้อยู่ในงานวิจัยเท่านั้น เพราะผู้ที่ทำวิจัยจะมีความรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และมีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจวัดเพื่ออะไร ให้ได้ภาพรวมออกมา สู่สังคมจะดีกว่า ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจหาภูมิต้านทานแต่อย่างใด