ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า โควิด 19 การระบาดของโรค
จุดเริ่มต้นถึงแม้ว่าจะออกจากประเทศจีนเข้าสู่เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดียิ่ง ด้วยมาตรการต่างๆ
โรคได้ไประบาดอย่างมากในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ลงสู่ลาตินอเมริกา ในอเมริกา ยุโรป มีการระบาดอย่างหนัก เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนตั้งแต่ปลายปี จะเห็นได้ว่ากว่าจะควบคุมโรคได้ให้ลดลง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน ในขณะนี้การระบาดในอเมริกา อังกฤษ อยู่ภายใต้การควบคุม และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้
โรคได้ย้อนกลับมายังเอเชีย อีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะที่ประเทศอินเดีย และรอบข้าง มีการระบาดอย่างหนัก รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย
บทเรียนจากทางยุโรปและอเมริกา ในการควบคุมโรคด้วยวัคซีน ต้องให้เร็วและครอบคลุมให้มากที่สุด แม้กระทั่งในอเมริกาเอง ใช้เวลาร่วม 5 เดือนแล้ว อัตราการครอบคลุมยังอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มเห็นผลว่ามีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยเพิ่งเริ่มให้วัคซีน ขณะนี้ครอบคลุมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายใน 4 เดือน เราจึงจะเห็นผล
การให้วัคซีนจะต้องปูพรมไปก่อน ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ด้วยวัคซีนที่เรามีอยู่ AstraZeneca และตาม ด้วยการกระตุ้นเข็ม 2
ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องพยายามหาวัคซีนอื่นๆเพิ่มเติมมาอีก เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้น ให้ภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หรือปรับเปลี่ยน วัคซีนให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
การติดตามภูมิต้านทานในประชากรไทยที่ได้รับวัคซีน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องประเมินประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ในบริเวณที่มีการระบาด ศึกษาแนวทางการกระตุ้นในเข็มที่ 3 เพื่อให้คงสภาพภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา ใช้ในการป้องกันระยะยาวต่อไปมีความจำเป็น ที่จะต้องเริ่มทำการศึกษา
สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา คือการสลับปรับเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อของวัคซีน เพราะขณะนี้เราเริ่มเห็นปัญหา เช่นนักเรียนหรือผู้ที่จะเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกา ยังไม่แน่ใจว่าจะยอมรับวัคซีนจีนหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับเราจะฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหรือมีการสลับปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนที่กำลังฉีดอยู่ได้หรือไม่ คนที่แพ้วัคซีนเข็มแรก เข็มที่ 2 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน
หรือในอนาคตที่มีวัคซีนหลายยี่ห้อมา ถ้าต้องการกระตุ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว จะสามารถทำได้อย่างไร ข้อมูลทั้งหมดจะต้องรีบทำการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในประเทศของเรา