xs
xsm
sm
md
lg

อดีตขุนคลังชี้"รบ.บิ๊กตู่"ฉีกหน้ารัฐสภาอีกแล้ว ปมกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล.เป็นวาระลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ฉีกหน้ารัฐสภาอีกแล้ว” มีข่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ระลอกใหม่ วงเงิน 7 แสนล้านบาท

โดยร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวระบุถึงสาเหตุที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งสรุปได้ว่าตัว พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ออกมา เมื่อปี 2563 ปัจจุบันเหลือวงเงินอยู่เพียง 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

สำหรับ พ.ร.ก. เงินกู้ระลอกใหม่นี้ มีแผนนำไปใช้ในด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท ใช้ในการเยียวยาประชาชน 4 แสนล้านบาท และใช้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 2.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้การเสนอของกระทรวงการคลังในครั้งนี้อยู่ในวาระลับ และที่ประชุมได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการลงพระปรมาภิไธย

ผมมีความเห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ฉีกหน้ารัฐสภาไทยอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยไม่นำพาที่จะสร้างภาระแก่ประชาชน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในด้านการเมือง
เว็บไซต์ของ ilaw อธิบายเกี่ยวกับพระราชกำหนดว่า

“โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 กำหนดว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"

ซึ่งคำว่า ฉุกเฉิน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “ที่เป็นไปโดยปัจจุบัน ทันด่วน และต้องรีบแก้ไขโดยพลัน” และคำว่า “จำเป็น เร่งด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” หมายถึง ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา”

ถามว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิดเพิ่มขึ้นหรือไม่

ตอบว่า มีความจำเป็น เพราะรัฐบาลบริหารงานด้านวัคซีนไม่รัดกุม ทำให้ไทยเริ่มฉีดช้ากว่าหลายประเทศ ประกอบกับความเสี่ยงด้านกลายพันธุ์ในอนาคตยังมีสูง จึงจะใช้เวลากว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับดังเดิม รัฐบาลมีหน้าที่ต้องช่วยประชาชนและชุมชนที่จำเป็นต้องปรับตัวรองรับสภาพปกติใหม่ในโลกหลังโควิด

ถามว่า รัฐบาลสมควรใช้วิธีออกเป็น พ.ร.ก. หรือไม่

ตอบว่า ไม่ควร ไม่จำเป็น เพราะกรณี พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทฉบับก่อน อาจจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เนื่องจากไม่มีใครคาดได้ว่าจะมีโควิดมาเยือน แต่ถึงวันนี้ โลกผ่านวิกฤตโควิดมาเป็นเวลากว่า 15 เดือนแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงิน มีความจำเป็นต้องเตรียมเงิน และในสภาวะที่รายได้ภาษีของรัฐบาลลดลง รัฐบาลจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่ม

ดังนั้น ถึงแม้มีความจำเป็นเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่ไม่อาจตีความได้ว่า เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เป็นกรณีฉุกเฉิน “ที่เป็นไปโดยปัจจุบัน ทันด่วน และต้องรีบแก้ไขโดยพลัน”

ถามว่า วิธีการใช้เงินใน พ.ร.ก. เป็นอย่างไร

ตอบว่า ใน พ.ร.ก. ปี 2563 กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อกลั่นกรองและอนุมัติโครงการใช้เงินกู้ เพื่อเสนอ ครม. คณะกรรมการนี้มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานและรายงาน ครม. ทุก 3 เดือน โดย ครม. เป็นผู้วางระเบียบการใช้เงิน

ถามว่า วิธีการใช้เงินใน พ.ร.ก. ไม่ดีอย่างไร

ตอบว่า วิธีใช้เงินใน พ.ร.ก เป็นวิธีพิเศษ จัดขึ้นโดยเฉพาะ เรียกว่า ad hoc การใช้เงินจึงหลุดออกไปจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และระเบียบที่ควบคุมในระบบงบประมาณปกติ และหลุดออกไปจากการกำกับควบคุมโดยรัฐสภาในระบบงบประมาณปกติ

ดังนั้น ถึงแม้ขับเคลื่อนใช้จ่ายได้รวดเร็ว แต่ก็เกิดความหละหลวม เปิดช่องให้มีการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง

ถามว่า เปิดช่องให้มีการใช้เงินที่ไม่ถูกต้องอย่างไร

ตอบว่า ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์เสนอรัฐสภาเพื่อกู้ยืมเงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท ในระบบปกติ จะมีข้อแตกต่างดังนี้

หนึ่ง รัฐสภาจะสามารถวิจารณ์และเสนอแนะเกี่ยวกับหลักคิดในขบวนการใช้เงินเพื่อการเยียวยา เช่น อาจจะแนะนำให้แจกเงินตรงแก่ประชาชนน้อยลงเปลี่ยนเป็นแจกผ่านธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กมากขึ้น โดยรัฐบาลช่วยรับค่าแรงและเงินเดือนของพนักงานเป็นส่วนใหญ่ 70-80% สำหรับช่วงเวลาที่ล็อคดาวน์ หรือให้แจกเงินผ่านวัดและโรงเรียนซึ่งเป็นขบวนการสังคมชนบทมากขึ้น เป็นต้น

สอง รัฐบาลจะต้องสำรวจระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถแจ้งต่อรัฐสภาได้ว่า โครงการฟื้นฟูหลักๆ จะเป็นอย่างไร มิใช่ใช้ระบบตีเช็คเปล่าของ พ.ร.ก. อนุมัติวงเงินไปก่อน แล้วรัฐบาลค่อยแสวงหาโครงการมาใส่ให้เต็มภายหลัง

สาม รัฐบาลจะต้องแจงให้ได้ว่า ได้มีการตัดทอนงบประมาณอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเต็มที่หรือยัง จะลดงบประมาณส่วนใดลงไป

สี่ รัฐบาลจะต้องรายงานให้รัฐสภาทราบว่า การดำเนินการตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทนั้น เป็นไปอย่างไร คุ้มค่าเพียงใด และมีการป้องปรามการรั่วไหล การฉ้อราษฎร์บังหลวง มีประสิทธิผลได้อย่างไร

ห้า การเบิกใช้เงินจะเป็นไปตามระเบียบปกติซึ่งมีการกำกับโดยหลายส่วนราชการ และมีการกำกับตรวจสอบโดยรัฐสภาผ่านกลไกในงบประมาณปกติ

ถามว่า ทำไมต้องเสนอ ครม. เป็นวาระจร ลับ

ตอบว่าทั้งที่วงเงิน 7 แสนล้านบาทเป็นวงเงินที่ใหญ่โต ทั้งที่ยังมีโจทย์ที่รอเงินจากรัฐบาลเพื่อก้าวข้ามวิกฤตโควิดมากมาย

ทั้งที่รัฐบาลมีเวลาคิดเตรียมตัวมานานถึง 15 เดือน ทั้งที่ขบวนการทำงานใช้เงินนี้จะเป็นภาระต่อลูกหลานไทยอีกนาน และทั้งที่รัฐบาลควรจะนำเสนอประเด็นการแก้วิกฤตเพื่อให้ประชาชนถกแถลงอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นเจ้าของเงิน

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับต้องเดินเกมแบบลับลมคมใน เหตุผลก็เพราะถ้าข้อมูลรั่วออกมาก่อน จะมีเสียงคัดค้าน จึงต้องอาศัยอำนาจพิเศษรวบรัด

ผมจึงขอเสนอแนะให้ประชาชนตั้งคำถามต่อผู้แทนของท่าน เรียกร้องให้ผู้แทนทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบ เพื่อป้องกันมิให้มีใครฉวยโอกาสบนความทุกข์ยากของประชาชน บนความเหนื่อยยากของรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องช่วยกันหาเงินมาใช้หนี้

อย่าให้มีใครเอื้อประโยชน์ต่อฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสี่ยงต่อการหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ