นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "วัคซีนกับความต้องการของประชาชน" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,268 ตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 67.5 ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็น และมีความต้องการรับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ในระดับค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 23.3 ระบุว่ามีความต้องการในระดับปานกลาง และร้อยละ 9.2 ต้องการในระดับ ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่เลย
สิ่งที่น่าพิจารณาคือ คนสูงอายุส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการฉีดวัคซีนมากกว่าคนอายุน้อย โดยพบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 64.4 ของคนอายุ 40–59 ปี อีกทั้งยังเชื่อมั่นวางใจบุคลากรแพทย์ในชุมชนที่เป็น อสม. มาช่วยเรื่องฉีดวัคซีน รวมถึงวางใจให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานพยาบาลใกล้ชุมชน มาฉีดวัคซีนโควิด
สิ่งที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 72.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70.3 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 66.4 ของคนอายุ 18–39 ปี เชื่อว่าถ้าได้รับวัคซีนโควิดจะช่วยลดอาการหนักเป็นเบา ขณะที่ร้อยละ 68.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 69.3 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 65.8 ของคนอายุ 18–39 ปี กลัวตายเพราะโควิดมากกว่า กลัวตายเพราะฉีดวัคซีน อีกทั้งร้อยละ 76 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.6 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 71.6 ของคนอายุ 18–39 ปี รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนโควิด ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าร้อยละ 72.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 74.8 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 66.5 ของคนอายุ 18–39 ปี มองว่าวิกฤตชาติโควิดครั้งนี้จะแก้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน รวมถึงร้อยละ 73.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 75.8 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 63.7 ของคนอายุ 18–39 ปี คนที่ติดโควิดมีโอกาสตายมากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนตาย ขณะที่ร้อยละ 75.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 77.0 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 18–39 ปี คนที่ติดโควิดจะทรมาน มากกว่าการฉีดวัคซีน
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ร้อยละ 81.2 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.9 ของคนอายุ 40–59 ปี และร้อยละ 69.4 ของคนอายุ 18–39 ปี ระบุการฉีดวัคซีนจะช่วยทำให้เราเปิดประเทศได้เร็วขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตปกติจะกลับมา
สำหรับปัญหาที่เป็นอุปสรรคการฉีดวัคซีนของคนไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 93.2 มองว่าการสร้างข่าวปลอมหรือข่าวเท็จเป็นสิ่งที่สร้างความกลัวในคนที่ไม่รู้จริงมากที่สุด ตามด้วยร้อยละ 93.1 ระบุว่าอุปสรรคคือการปล่อยข้อมูลผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นจริง ร้อยละ 91 มองว่าปัญหาคือการปล่อยข้อมูลทำให้คนรอยี่ห้อวัคซีน ส่วนร้อยละ 90.8 ระบุว่า คือการใช้ประเด็นวัคซีนการเมืองปั่นกระแสสร้างความสับสนในหมู่ประชาชน