xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.เจออีก 2! พกส.รถแอร์สาย 510-พนง.บัญชีค่าโดยสาร ติดโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกประกาศว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

แต่นี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 พนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย 510 เพศหญิง อายุ 45 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต่อมา วันที่ 9 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวจากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ดังต่อไปนี้

1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อฯ (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข

2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ของพนักงาน สรุปได้ดังนี้

วันที่ 28-30 เมษายน 2564
- เวลา 04.00-05.00 น. พนักงานปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานเอกสาร ณ อู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยทำงานในห้องทำงานเดียวกับ พนักงานธุรการจ่ายงาน เพศหญิง อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อฯ ตามที่องค์การฯ ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564
- เวลา 06.40-12.30 น. ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1-70333
- เวลา 15.00 น. พนักงานได้เดินทางไปที่บ้านของพนักงาน ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสอง จังหวัดปทุมธานี โดยพนักงานได้แวะซื้ออาหารที่ตลาดพระรูปคลองสอง
เวลา 22.00 น. เดินทางกลับถึงที่พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
- เวลา 03.30-07.00 น. พนักงานปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานเอกสารที่อู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- เวลา 15.00-16.00 น. เดินทางไปที่บ้านตำบลคลองสอง โดยพนักงานได้แวะซื้ออาหารที่ตลาดพระรูปคลองสอง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์
- เวลา 15.00 น. พนักงานได้เดินทางไปซื้ออหารที่ตลาดพระรูปคลองสอง
- เวลา 21.00-21.30 น. พนักงานเดินทางกลับที่้พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1-70332 ตั้งแต่เวลา 08.00-10.30 น.
- เวลา 11.00-13.00 น. ปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานเอกสารที่อู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- เวลา 14.00-14.30 น. เดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ อบจ.ปทุมธานี ซึ่งผลการตรวจเป็นลบ
- เวลา 15.00 น. เดินทางไปที่บ้านตำบลคลองสอง
- เวลา 22.00 น. เดินทางกลับถึงที่พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยพนักงานเริ่มมีอาการไข้และมีน้ำมูก

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 วันหยุดนักขัตฤกษ์
- เวลา 04.00-07.00 น. ปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานเอกสารที่อู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- เวลา 14.00 น. เดินทางไปที่บ้านตำบลคลองสอง
- เวลา 22.40 น. เดินทางกลับถึงที่พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1-70302 ตั้งแต่เวลา 06.20-12.30 น.
- เวลา 14.30-15.00 น. พนักงานเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต เพื่อรักษาอาการไข้หวัด
- เวลา 14.00 น. เดินทางไปที่บ้านตำบลคลองสอง
- เวลา 21.30 น. เดินทางกลับถึงที่พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1-70333 ตั้งแต่เวลา 06.20-12.30 น.
- เวลา 15.00 น. เดินทางไปที่บ้านตำบลคลองสอง
- เวลา 21.20 น. เดินทางกลับถึงที่พักอาศัย ณ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 วันหยุดชดเชยจากการทำงานในวันหยุด พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 พนักงานลาหยุด
- เวลา 09.30-13.30 น. พนักงานเดินทางไปที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ
- เวลา 15.00 น. พนักงานเดินทางไปกักตัวที่บ้านตำบลคลองสอง

วันที่ 9 พฤษภาคม 2564
- เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต แจ้งให้ทราบว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

3. เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การฯ มีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ องค์การฯ ได้พักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 จำนวน 3 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสาร หมายเลข 1-70333, 1-70332 และ 1-70302 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึงอู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร

4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 1 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานขับรถโดยสารดังกล่าวหยุดงานไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 06.30 น. พนักงานบัญชีค่าโดยสาร ระดับ 3 เขตการเดินรถที่ 6 เพศชาย อายุ 42 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนภิเษก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมา เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้อยู่ที่บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าววจากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 6 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

สำหรับไทม์ไลน์ของพนักงานผู้ติดเชื้อฯ สรุปได้ดังนี้

วันที่ 27-28 เมษายน 2564
- เวลา 08.00 น. พนักงานเดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี
- เวลา 16.30 น. เดินทางกลับบ้าน

วันที่ 29 เมษายน 2564
- เวลา 08.00 น. พนักงานเดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี
- เวลา 09.00-10.00 น. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี เพศหญิง อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อตามที่องค์การฯ ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มาตรวจสอบจำนวนตั๋วคงคลังประจำเดือน ณ ห้องทำงานของพนักงาน
- เวลา 16.30 น. พนักงานเดินทางกลับบ้าน

วันที่ 30 เมษายน 2564
- เวลา 08.00 น. พนักงานเดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี
- เวลา 16.30 น. เดินทางกลับบ้าน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564
- เวลา 07.00 น. พนักงานเดินทางไปที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19
- เวลา 10.00 น. เดินทางกลับบ้าน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564
- เวลา 08.00 น. พนักงานเดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี
- เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้แจ้งผลการตรวจให้ทราบว่า พนักงานไม่เป็นผู้ติดเชื้อ
- เวลา 16.30 น. เดินทางกลับบ้าน

วันที่ 4-7 พฤษภาคม 2564
- เวลา 08.00 น. พนักงานเดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนี
- เวลา 16.30 น. เดินทางกลับบ้าน

วันที่ 8-9 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน โดยพนักงานเริ่มมีอาการไข้เล็กน้อย

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 วันหยุดนักขัตฤกษ์
- เวลา 06.30 น. พนักงานได้เดินทางไปที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19
- เวลา 10.00 น. เดินทางกลับบ้าน
- เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลรับไปรักษา ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564
- เวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้นำรถพยาบาลมารับพนักงานไปรักษาตัวที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นพนักงานบัญชีค่าโดยสาร ระดับ 3 จึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์การฯ ได้ทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถยนต์ส่วนกลางของเขตการเดินรถที่ 6 รวมถึงห้องทำงานและบริเวณโดยรอบสถานที่ทำการ อู่บรมราชชนี

ขณะเดียวกัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ให้พนักงานที่ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานผู้ติดเชื้อฯ หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทาง