น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 วงเงินงบประมาณ 311.41 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยก่อน และรัฐบาลจะชดเชยเงินตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส.+1 ในปีงบประมาณถัดไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีการผลิต 2563 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยโครงการปีการผลิต 2564 รวม 2.92 ล้านไร่
2. ค่าเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็น
ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัย 160 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้อีก 64 บาทต่อไร่ และกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัยแยกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่ โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่
ค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 ซึ่งเกษตรกรซื้อเพิ่มเติม และจะต้องจ่ายค่าเบี้ยเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 90 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่
ส่วนวงเงินความคุ้มครอง ครอบคลุมภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า และภัยศัตรูหรือโรคระบาด โดย Tier1 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 1,500 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด จำนวน 750 บาทต่อไร่
ส่วน Tier2 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด จำนวน 120 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา
นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการในปีการผลิต 2563 ที่ผ่านมาว่า มีเกษตรกรผู้เอาประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 จำนวน 120,607 ราย พื้นที่เข้าร่วมจำนวน 2.14 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 76.43 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 2.8 ล้านไร่ และเกษตรกรผู้เอาประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 มีจำนวน 86 ราย ส่วนคำขอรับค่าสินไหมทดแทน ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2564 มีเกษตรกรยื่นจำนวน 3,396 ราย รวมเป็นเงิน 34.29 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเสร็จสิ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้