นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทย ภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า ตามที่ท่านอธิการบดีของนิด้า ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องเรียนว่า ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ บุคลากรของสถาบัน แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอาจนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มคนในสังคมนั้น
ผมอยากให้ท่านอธิการบดี ได้ทำความเข้าใจกับ ภาษาไทย ระหว่างคำว่า ความแตกแยก กับ การปกป้อง
1.ความแตกแยก หมายถึงการนำไปสู่ ไม่เห็นด้วยอย่างแรง,ไม่ลงรอยกัน,ทะเลาะ,ขัดแย้ง,คัดค้าน ดังนั้นการสร้างความแตกแยก จึงมีผู้เริ่มต้นกระทำให้เกิดความแตกแยก
2.การปกป้อง หมายถึง คุ้มกัน, คุ้มครอง, ป้องกัน, รักษา ผู้ที่มาปกป้อง จึงเป็นผู้คุ้มกัน คุ้มครอง ป้องกันรักษา แน่นอน ผลของการปกป้อง ย่อมไม่อาจจะเลี่ยงความขัดแย้งได้
สิ่งที่ท่านอธิการบดีของนิด้า ต้องตระหนัก ต่อคำแถลงของสถาบันนั่นคือ
ท่านทราบไหมว่า ดร.อานนท์ ได้ทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50(1) นั่นคือ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถามท่านว่า ท่านไม่ทราบจริงๆ หรือว่า ขณะนี้มีขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำเนินกิจกรรมในนามระบอบสามกีบ ร่วมกับอาจารย์บางส่วนของหลายๆมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการปล่อยเฟคนิวส์ ให้ข้อมูลเท็จ ปั่นหัวเยาวชนของชาติ
ท่านทราบหรือไม่ว่า ดร.อานนท์คือบุคคลที่มีส่วนสำคัญมาก ที่ใช้องค์ความรู้ที่ได้ศึกษา และมีส่วนร่วมกับประชาชนหลายภาคส่วน ช่วยกันปกป้องสถาบันหลักของชาติ
แน่นอนครับ ผลของการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยของ ดร.อานนท์ ในการปกป้องสถาบัน ย่อมมีความขัดแย้ง แต่ ดร.อานนท์ ไม่ใช่ผู้เริ่มต้นกระทำ และย่อมมีบุคคลที่ไม่พอใจ จึงฉวยโอกาสร้องเรียนท่าน เพราะการออกมาปกป้องสถาบันของดร.อานนท์ จะทำให้ขบวนการสามกีบ ยากลำบากที่จะบรรลุเป้าหมาย
ผมหวังว่าท่านอธิการบดีน่าจะเข้าใจ ข้อเท็จจริงและบริบทของความจริงที่เกิดขึ้นครับ