พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาล เพื่อรองรับการนอนพักรักษาตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการเน้นย้ำช่องทางในการติดต่อสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีเตียงนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผ่านสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 หรือสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อจะต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นเป็นเวลา 10 วัน จากรายงานการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าเชื้อที่อยู่ในตัวผู้ติดเชื้อมีความสามารถในการแพร่สู่ผู้อื่นภายในระยะเวลา 10 วัน เท่ากับว่าหลัง 10 วัน เชื้อจะหมดความสามารถในการแพร่ แต่ยังสามารถอยู่ในตัวผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งคำแนะนำคือ สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่างอยู่เสมอ
ส่วนข้อควรปฏิบัติกรณีอยู่บ้านกับครอบครัวใหญ่ มีดังนี้ แยกห้องนอนออกจากคนอื่นในบ้านให้เป็นสัดส่วน ไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่นในบ้าน แยกขยะ เพราะขยะจากผู้ติดเชื้อถือเป็นขยะติดเชื้อ แยกห้องน้ำ หากไม่สามารถแยกห้องน้ำจริงๆ ให้ผู้ติดเชื้อใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้ จุดที่ควรระวังมากเป็นพิเศษคืออ่างล้างหน้า และโถปัสสาวะ กรณีอยู่บ้านคนเดียว หรือคอนโดฯ ใช้ชีวิตได้ตามปกติภายในบ้าน ใช้บริการเดลิเวอรีได้ แต่ต้องใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับพนักงานที่มาส่ง และล้างมือบ่อยๆ ขณะเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่คอนโด ควรแจ้งนิติบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ให้ทุกคนในอาคารใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เจ้าหน้าที่นิติบุคคลให้เตรียมมาตรการและแจ้งลูกบ้านให้ระมัดระวัง ฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณส่วนกลาง รวมถึงการจัดการขยะติดเชื้อ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเตรียมพร้อมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสังกัด รวมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลโรงแรม (Hospital) เพิ่มเติม โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างเครือข่าย 5 หน่วยงาน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอัปเดตข้อมูลทุกวัน เพื่อสร้างความอุ่นใจและความเชื่อมั่นให้ระบบการส่งต่อและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่ใช้สำหรับอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ สายด่วน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 0 2203 2393 หรือ 0 2203 2396 หรือ 0 2203 2883 และ 0 2245 4964 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วน Website BKK COVID-19 0 2203 2393 และ 0 2203 2396 ให้บริการเวลา 08.00-20.00 น. สายด่วนผู้ที่มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์โรคโควิด-19 ติดต่อศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร 1646 แจ้งข้อมูลผู้ที่คาดว่าได้สัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) 097 046 7549 และสายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 1422