นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 เน้นการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล คือ วันที่ 15 มีนาคม - 9 เมษายน 2564 การใช้มาตรการขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นจากสุรา กลุ่มอายุหลัก คือ ต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2564 ยังบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตั้งด่านชุมชนสกัดไม่ให้ผู้ดื่มขับรถออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าช่วยลดตัวเลขและการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้ โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งด่านชุมชนในถนนรองให้มากที่สุด โดยร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่ การตรวจวัดเลือดแอลกอฮอล์ผู้บาดเจ็บทางถนนอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกราย หากปริมาณเกินมาตรฐาน ให้สอบสวนเอาผิดสถานที่หรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน ขณะที่ช่วงหลังเทศกาล วันที่ 17-23 เมษายน 2564 ให้สรุปข้อมูลเพื่อปรับปรุงมาตรการในปีต่อไป
ส่วนเรื่องที่สอง คือ เห็นชอบการใช้ยานาลเทรกโซน (Naltrexone) และยาอะแคมโพรเสต (Acamprosate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เนื่องจากในต่างประเทศมีการบรรจุยาทั้ง 2 ตัว ในบัญชียาหลักและพบว่าลดการเสพซ้ำได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา ไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ พบว่ามีแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดีย และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการเร่งรัดการนำเข้าและขึ้นทะเบียนยา และจัดทำโครงการนำร่องการใช้ยาดังกล่าวในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อใช้แทนยาเดิม
ด้านนายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) เป็นยาเดิมที่ใช้ในการบำบัดผู้ติดสุรา แต่มีข้อจำกัดต้องเว้นจากการดื่มสุรา 2 สัปดาห์ หากใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดอาการต่างๆ เช่น หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ใจสั่น หายใจลำบาก ถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งยาใหม่ 2 ตัวนี้ที่จะนำมาใช้แทน พบว่ามีประสิทธิภาพและลดการเสพซ้ำได้