วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 13.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไป สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ที่นำธงชาติไทยแต่ไร้แถบสีน้ำเงินมากระทำการในลักษณะไม่สมควร เมื่อวันที่ 14 มี.ค.64 และบริเวณคณะวิจิตรศิลป์ มช.ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 โดยมีนักแสดงหญิงชื่อดังที่ทำตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยงพ่วงอยู่ด้วยนั้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ได้เข้าไปหอศิลป์มหาลัยในฐานะคณะบดีวิจิตรศิลป์ เพื่อดูความพร้อมของสถานที่ เตรียมรับผลงานแสดงวิทยานิพนธ์ของต่างสถาบัน ที่มาขอใช้พื้นที่แสดงงานแล้วตรวจพบธงชาติไทยที่เอาสีน้ำเงินออก พร้อมข้อความด่าทอในลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นธงที่เคยใช้ในม็อบต่อต้าน 112 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 64 ที่สนามกีฬา มช.เมื่อไม่กี่วันก่อน ปะปนอยู่กับงานศิลปะนักศึกษา โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงให้เจ้าหน้าที่เอาออกไป จนกลายเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันมากในขณะนี้ ซึ่งการจัดทำธงชาติไทย แต่ไม่มีแถบสีน้ำเงินนั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ธง 2522 ในหลายมาตรา อาทิ ม.53 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อาทิ ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีของธง อันมีลักษณะโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ม.54 บัญญัติว่าผู้ใดกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎของกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามประมวลกฎหมายอาญา ม.118 ก็ยังบัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงไม่อาจทนดูพฤติกรรมของผู้ที่นำธงของชาติไทยมาลบหลู่ ดูหมิ่น และใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ จึงนำความพร้อมพยานหลักฐานมาแจ้งความต่อ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อเอาผิดผู้ที่ทำธงดังกล่าว รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมที่สนามกีฬา มช.เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64 ฐานเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ตาม พรก.ฉุกเฉิน 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ม.116 และ ม.215 อีกด้วย