นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทย ภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ในวันนี้ (11 มี.ค.) ระบุว่า บทสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ60
ผมคิดว่าภาษาไทย แม้จะเขียนเป็นภาษากฏหมาย ถ้าไม่อคติ หรือมีผลประโยชน์ส่วนตน การตีความไม่ยาก
หลังจากได้อ่านคำนิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ผมขอลำดับความยากง่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
1.แก้ไขยาก คือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เมื่อลงมติ จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. ในสัดส่วนที่กำหนดเช่นขั้นขั้นรับหลักการในวาระแรก ใช้เสียงเกินครึ่ง แต่ต้องมีเสียงส.ว.1/3 ของส.ว.ที่มี หรือขั้นลงมติวาระสาม นอกจากเสียงเกินครึ่งและต้องมีเสียงส.ว.1/3 แล้ว ยังต้องมีเสียงส.ส.ฝ่ายค้าน 20%ของส.ส.ฝ่ายค้านที่มี เพราะป้องกันการฮั้ว เอาเสียงข้างมากลากไป เหมือนเคยเกิดในอดีต
2.แก้ไขยากมากขึ้น คือการแก้ไขรธน.รายมาตรา ที่มีสาระไปเปลี่ยนแปลง 6 สิ่งดังต่อไปนี้
2.1หมวด1หมวดทั่วไป
2.2 หมวด 2 พระมหากษัตริย์
2.3 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2.4 คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรธน.
2.5 อำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ
2.6 เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่
ถ้ามีการแก้ไขใน 6 สิ่งที่เกี่ยวข้องนี้ เมื่อผ่านวาระสามแล้ว ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนด้วยว่า จะยอมให้แก้ไขไหม
3.แก้ไขยากที่สุด นั่นคือการแก้ไข รธน.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่า ต้องการจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องทำประชามติ ให้ประชาชนเห็นชอบอีกครั้ง
4.แก้ไขไม่ได้เลย นั่นคือการแก้ รธน. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ
นี่คือบทสรุปที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนในฐานะผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ต้องรู้เท่าทันนักการเมืองบางกลุ่ม ที่จ้องล้มรัฐธรรมนูญ 2560 นี้