xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเผย 2 เดือนแรกปีนี้'เฟกนิวส์'ปมโควิดเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้สรุปข้อมูลจากการแจ้งเบาะแส และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงการระบาดรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 35.47 ล้านข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 2,784 ข้อความ โดยมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง ซึ่งในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านการตรวจสอบสู่สาธารณะแล้ว จำนวน 140 เรื่อง โดยมีสัดส่วนของข่าวปลอม 70% ข่าวบิดเบือน 20% และข่าวจริง 10 %

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบสอง อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนอย่างมาก ทำให้มีการพูดถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับโควิดจำนวนมาก โดยเฉพาะบนโลกโซเชียล ส่งผลให้ตัวเลขการแจ้งเบาะแสข่าวปลอมในช่วงแค่ 2 เดือนกว่าของการระบาดรอบใหม่ พุ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนข้อความแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีแรกของการจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ที่ 18.81 ล้านข้อความ ซึ่งรวบรวมระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 - กันยายน 2563

น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง พบว่าอันดับ 1 อยู่ในหมวดหมู่สุขภาพ จำนวน 719 เรื่อง คิดเป็น 53% ตามมาด้วยหมวดหมู่นโยบายรัฐ จำนวน 615 เรื่อง คิดเป็น 46% และหมวดหมู่เศรษฐกิจ จำนวน 12 เรื่อง คิดเป็น 1% ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ ไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย

ทั้งนี้ ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมพบว่ามีข่าวปลอมที่มักถูกนำมาแชร์ซ้ำมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดรับอาสาสมัคร ทดลองวัคซีนโควิด-19 ในไทย 2. คลิปเสียงหมอศิริราช แนะให้กินยาเขียวเพื่อรักษาโควิด-19  3. จุฬาฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 230 ราย 4. เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 10 ราย และ 5. พบลูกตำรวจ สภ.แม่ริม ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ