xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”จ่อช่วยชาวดอนเมืองเรียกร้องระงับถนนเชื่อมวิภาวดี-พหลโยธิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ต่อมาผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเข้าครอบครองและใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืน ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธินเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 แล้วนั้น

แต่เนื่องจากการกำหนดแนวเส้นทางของถนนที่จะต้องมีการเวนคืนดังกล่าวที่มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 72 ขนานไปกับทิศใต้ของท่าอากาศยานดอนเมือง ข้ามคลองลาดพร้าว ก่อนสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน ระหว่างซอยพหลโยธิน 69/2 ถึง 69/3 และเชื่อมต่อกับถนนเทพรักษ์ (พหลโยธิน-สุขาภิบาล 5) รวมระยะทางประมาณ 2.76 กิโลเมตรนั้น ซึ่งแนวเส้นทางดังกล่าวมิได้เป็นเส้นตรง แต่ กทม.มีเจตนาที่จะออกแบบเส้นทางให้หักศอกคดเคี้ยวเลียบคลองลาดพร้าวเพื่อทำลายชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา เขตดอนเมืองตามแนวริมคลองลาดพร้าวให้เสียหายไปกว่า 150 หลังคาเรือน ทั้งๆที่หากออกแบบเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นตรง จะกระทบต่อชาวชุมชนร่วมมิตรฯเพียง 5 หลังคาเรือน และกระทบชาวชุมชนพหลโยธิน 69 เขตบางเขนเพียง 25 ครัวเรือนเท่านั้น ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยและมีมติที่จะคัดค้านโครงการดังกล่าวให้ถึงที่สุด โดยร้องขอให้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเข้ามาช่วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการตั้งงบประมาณไว้กว่า 3,800 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนฯ ซึ่งหากออกแบบเส้นทางเป็นเส้นตรงจะทำให้ลดค่าก่อสร้างจาก 1,500 ล้าน เหลือเพียงประมาณ 1,000 ล้านเท่านั้น และลดค่าเวนคืนฯจาก 2,000 ล้าน เหลือเพียง 1,500 ล้านเท่านั้น ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีประชาชนไปได้กว่า 1,000 ล้านบาท การออกแบบเส้นทางให้หักศอกคดเคี้ยวเลียบคลองลาดพร้าวเกือบ 1 กม. จึงเป็นข้อพิรุธที่ต้องการใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่

นอกจากนั้น การออกพระราชกฤษฎีกาและการออกประกาศดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายประการ โดยเฉพาะการมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการตามที่ พ.ร.บ.เวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562 กำหนด การกำหนดเส้นทางเวนคืนที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินที่เป็นของนายทุนบางรายจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่ดินขึ้นมาหลายเท่าตัว รวมทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตรา เป็นการทำลายสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งชี้ว่ารัฐบาลและ กทม. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนยากคนจน ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวโดยไม่จำเป็น

ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านตามแนวเส้นทางเวนคืนฯ ดังกล่าว จึงได้มอบอำนาจให้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ช่วยเจรจาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ และหากเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จขอให้ช่วยฟ้องศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนการใช้อำนาจเวนคืนฯโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป