xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ กำชับบอร์ดอีอีซีกระจายการลงทุนในพื้นที่ ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุชา บรูพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นประธานการประชุม กพอ. ครั้งที่ 1/2564 โดยภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ปี 2563 มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ก็มีความก้าวหน้า การเตรียมพื้นที่โครงการ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เร็วกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อติดตามความก้าวหน้า มีผลปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีการลงทุนในด้านต่างๆ กว่าร้อยละ 50 วันนี้มีประเทศญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศ กำลังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งอุตสาหกรรม ดิจิทัล 5G ที่ไทยทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยมีการลงทุนในโครงสร้างและมีการใช้งานแล้วในอำเภอบ้านฉาง รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบ Cloud และระบบต่างๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย เพื่อลดภาระต้นทุน สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้กับการดำเนินการสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมย้ำให้รัฐบาลเผชิญหน้าอุปสรรคและเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำแนวทางสำคัญในการสร้างความสมดุลการลงทุน เน้นเปิดกว้างให้เกิดการกระจายการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความรู้ ดึงความชำนาญและนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการพัฒนา ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เม็ดเงินถูกดึงออกมาใช้ลงทุน ช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทุกโครงการต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมทุก 1-3 เดือน เพื่อให้นักลงทุนต่างๆ และประชาชนรับทราบถึงการลงทุนในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอีอีซีเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย