xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ติดตามการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ห่วงเกษตรกรเจอผลกระทบภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นในแต่ละปี ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ระบบชลประทานจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 ถึง 2580) ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสียหายของพื้นที่ เกษตรกรจะได้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานความก้าวหน้าว่า ในปี 2562 มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2561 ถึง 1.06 ล้านไร่ กระทรวงฯได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก สร้างระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท และที่สำคัญ ได้สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านแหล่งน้ำทั้งหมด 3,522โครงการ ทั่วประเทศ เก็บกักน้ำรวมเกือบ 7พันล้าน ลูกบาศก์เมตร สร้างพื้นที่ชลประทาน 3.4 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 6 แสนครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 4.912 ล้านไร่ โครงการฯที่แล้วเสร็จในปี 2563 มี 24 โครงการ เพิ่มการเก็บกักน้ำได้ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 2,400 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 5,700 ไร่ และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดจะแล้วเสร็จปี 2564-2567 อีก 69 โครงการ เพื่อการเก็บกักน้ำ 337 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 146,000 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 2แสนกว่าไร่

สำหรับภาพรวมของภาคการเกษตรนั้น แม้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมองเห็นโอกาสเติบโตอีกมาก จึงมีนโยบายให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตรในการเข้าถึงแหล่งที่ดินทำกิน การขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ และการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเกษตรและพัฒนาทักษะทางธุรกิจ เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมตามหลักคิดเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การพัฒนาอย่างยังยืน