รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 25 กุมภาพันธ์ 2564 ทะลุ 113 ล้านไปแล้วสถานการณ์ปัจจุบันติดเชื้อต่อวันจะพอๆ กับช่วงกลางตุลาคมปีที่แล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 449,887 คน รวมแล้วตอนนี้ 113,033,833 คน ตายเพิ่มอีก 11,794 คน ยอดตายรวม 2,505,411 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 78,356 คน รวม 28,951,873 คน ตายเพิ่มอีก 2,609 คน ยอดตายรวม 516,704 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 17,106 คน รวม 11,046,432 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 66,588 คน รวม 10,324,463 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 11,749 คน รวม 4,200,902 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 9,938 คน รวม 4,144,577 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไทย ฮ่องกง เมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
ย้ำเตือนกันให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า วัคซีนแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ไม่ควรกระหยิ่มยิ้มย่องว่ามีวัคซีนมาแล้วเหมือนได้รับชัยชนะในศึกสงคราม
ขอให้มีสติ คิดให้ดีว่า ตกลงเรามีอาวุธอะไร รู้อย่างถ่องแท้ไหมว่าอาวุธนี้มีแสนยานุภาพเพียงใด จำนวนมีมากน้อยแค่ไหน กระจายไปใช้อย่างไร ครอบคลุมจริงไหม เหมาะสมกับการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่
วิเคราะห์ตามเนื้อผ้า จำนวนที่ได้มานั้นถือว่าน้อยมาก และคงมุ่งเป้าได้เพียงการใช้เพื่อหวังป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
"...ยังไม่สามารถหวังผลที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ในการควบคุมการระบาดของโรควงกว้างได้..."
ดังนั้น จึงต้องเน้นย้ำ ขีดเส้นใต้หนาๆ สีแดงๆ ให้เห็นเด่นชัดว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศเรายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด การ์ดอย่าตก ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับปลอดภัยกว่า
ช่วงเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะดี๊ด๊า ตะลอนท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ปาร์ตี้กัน ขืนทำกันแบบนั้น หายนะจะมาเยือนอย่างรวดเร็ว
การพยายามจะเข็นนโยบายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น หากทำให้ระบบกักตัว 14 วันอ่อนแอลง อาจเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงในเวลาไม่นาน และจะส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นแดนดงโรคในระยะยาว
อย่าลืมว่าวัคซีนที่มีนั้น สรรพคุณหลักคือการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และลดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่สรรพคุณหลักที่กล่าวมานี้ ก็มีไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ประเทศอื่นใช้กันอยู่ ดังที่เห็นในตาราง
นอกจากนี้วัคซีนที่เรามีอยู่นั้น ก็ไม่ได้มีสรรพคุณเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ดังนั้นหากกักตัวไม่ดี แม้จะมีวัคซีนฉีด ก็อาจกันการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ อาจทำให้เกิดผลกระทบล้มกันเป็นโดมิโน่ได้
ดังนั้นอย่าหลงไปกับกิเลส โดยมิได้ประเมินศักยภาพของตัวเรา
เมื่อวานนี้ทั่วโลกได้รับข่าวดีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวัคซีน Johnson&Johnson ซึ่งขณะนี้ยื่นขออนุมัติต่อ US FDA เพื่อใช้ในอเมริกา จะพิจารณากันวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ไม่ใช่ mRNA vaccine ที่จะได้ใช้กันในอเมริกา ต่อจากที่ก่อนหน้านี้มีวัคซีนของ Pfizer/Biontech และ Moderna อย่างที่เราทราบกันดี
ล่าสุด ทาง US FDA ได้เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาของวัคซีนชนิดนี้ มีสาระสำคัญมากคือ
หนึ่ง จุดแข็งคือการเป็นวัคซีนที่ฉีดเพียง 1 ครั้ง และติดตามผลไปถึง 2 เดือนหลังการฉีดวัคซีน
สอง เป็นการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 43,783 คน (กลุ่มรับวัคซีนทดลอง 21,895 คน และกลุ่มที่ได้สารเลียนแบบวัคซีน 21,888 คน) โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ลักษณะเชิงประชากรที่สำคัญคือ 40.8% มีโรคประจำตัวร่วมด้วย และ 28% มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นจะพบว่าการศึกษาของวัคซีนนี้ค่อนข้างครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลาย
สาม ผลการศึกษาพบว่า ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 66% (66.9% หลัง 14 วัน และ 66.1% หลัง 28 วัน) และได้ผลเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอายุใด เพศใด เชื้อชาติใด หรือจะมีหรือไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม
สี่ ผลการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการนั้น แตกต่างกันตามภูมิภาคของโลกอยู่บ้าง ซึ่งอาจเกิดจากความแตกต่างของสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาด 72% ในอเมริกา 64% ในแอฟริกาใต้ และ 61% ในแถบอเมริกาใต้
ห้า ผลการป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต 100%
หก อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน น้อยกว่าวัคซีน Pfizer/Biontech และ Moderna นิดหน่อย แต่ไม่มีรายงานการเกิดแพ้วัคซีนรุนแรงแบบ anaphylaxis เลย (อย่างไรก็ตาม นี่เป็นผลจากการฉีดในอาสาสมัครในการศึกษา ยังคงต้องติดตามดู หากมีการฉีดในวงกว้าง)
และเจ็ด สิ่งที่ดีใจกันมากคือ ผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีสูงถึง 74% นับตั้งแต่วันที่ 29 หลังฉีดวัคซีน (โดยในวันที่ 1-28 หลังฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันได้)
โดยรวมแล้ว ผลการศึกษาของวัคซีนนี้ถือว่ามีความชัดเจนในด้านระเบียบวิธีวิจัย ทำให้เรามีความหวัง ว่าหากเลือกชนิดของวัคซีนเพื่อนำมาใช้ในประเทศได้ดี ก็จะสามารถหวังผลทั้งในแง่การป้องกันความรุนแรงของโรคหากเกิดติดเชื้อ และหวังผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย
ทั้งนี้ในภาวะวิกฤติโรคระบาด การเลือกชนิดวัคซีนและการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาให้แก่ประชาชนนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นการวัดความสามารถของกลไกในแต่ละประเทศในการบริหารจัดการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนนั่นเอง
ขอให้เราทุกคนป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง เพื่อช่วยในการตัดสินใจ