xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพโพลล์เผย ปชช.ส่วนใหญ่อยากฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้กังวลผลกระทบต่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,258 คน เรื่อง "คนไทยกับการฉีดวัคซีนโควิด-19" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 88.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะใดตามนโยบายฉีดวัคซีน ขณะที่ร้อยละ 6.5 อยู่ในกลุ่มนโยบายระยะที่ 1 กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 ใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และร้อยละ 5.5 อยู่ในกลุ่มนโยบายระยะที่ 2 มิถุนายน-ธันวาคม 2564

เมื่อถามว่า หากได้สิทธิ์ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ท่านจะฉีดหรือไม่ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.7 คิดว่าจะฉีด โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 54.1 จะดูผลข้างเคียงของคนที่ฉีดไปแล้วก่อน ส่วนร้อยละ 14.6 จะฉีดทันทีเพราะกลัวติดโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 31.3 คิดว่าจะไม่ฉีด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 16.8 ให้เหตุผลว่า กลัวมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย และร้อยละ 14.5 คิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงที่จะติด

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.1 กังวลว่าผลกระทบหลังการรับวัคซีนต่อภูมิต้านทาน และสุขภาพร่างกาย รองลงมา ร้อยละ 42.8 กังวลว่าวัคซีนผ่านมาตรฐานการรับรองหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ และร้อยละ 27.2 กังวลว่าราคา ค่าใช้จ่ายแพงในการฉีดวัคซีน หากไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ

สำหรับความหวังหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า ประชาชนร้อยละ 47.9 หวังว่าวิถีการดำเนินชีวิตประชาชนจะกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว รองลงมา ร้อยละ 22.5 หวังว่าจะช่วยปกป้อง/สร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับประชาชน และร้อยละ 18.8 หวังว่าจะเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ปกติเร็วที่สุด

สุดท้าย คำถามเพิ่มเติมที่อยากฝากถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.6 ฝากถามว่ากลุ่มใดบ้างที่ควรฉีดและไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มสตรีมีครรภ์ รองลงมา ร้อยละ 23.2 ฝากถามว่าวัคซีนที่ได้รับจะคุ้มครองได้นานแค่ไหน ต้องฉีดเพิ่มหรือไม่ และร้อยละ 19.9 ฝากถามว่า การฉีดวัคซีนมีค่าใช้จ่ายหรือไม่