xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ เผยพบเคสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์เพิ่ม 2 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในการเสวนา "ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์มีความน่ากลัวแค่ไหน" เปิดเผยว่า ธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา โดยปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 1-2 ตำแหน่ง ต่อเดือน และปัจจัยที่ทำให้กลายพันธุ์จนมีปัญหาคือ 1. เรื่องของไวรัส 2.สิ่งมีชีวิตที่ไวรัสอาศัยอยู่ และ 3.การรักษาบางอย่างที่ไปบีบคั้นให้ไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งนี้ทั่วโลกจับตาไวรัส 3 ตัว ที่มีการกลายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ B.1.1.7(GR,G) จากอังกฤษ สายพันธุ์ B.1.351(GH,G) จากแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ P.1(GR) จากบราซิล
 
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยตรวจเจอสายพันธุ์ B.1.1.7 ในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวม 9 ราย และล่าสุดตัวล่าสุดที่มีการกลายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ และไทยตรวจเจอรายแรกเป็นพ่อค้าพลอยชายไทยอายุ 41 ปี ติดเชื้อมาจากแทนซาเนีย โดยพบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงที่ด้านขวาล่าง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง ปริมาณไวรัสแทบไม่ลดลงเลยหลังรับฟาวิพิราเวียร์ ภูมิคุ้มกันก็ขึ้นช้ามาก ต้องรักษาแบบประคับประคอง และต้องเปลี่ยนมาให้ยาเรมดิซีเวีย อย่างไรก็ตามตอนนี้การรักษาดีขึ้นแล้ว ล่าสุดเราตรวจเจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มอีก 2 ราย ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ อยู่ระหว่างการรายงานเข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 ราย ดังนั้น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจาย
 
ขณะนี้ สายพันธุ์ B.1.1.7 อังกฤษ ซึ่งพบว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย ล่าสุดที่อังกฤษพบว่ามีการกลายพันธุ์อีกรอบ เป็นนิวเวอร์ชั่น โดยพบความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ที่เจอในแอฟริกาใต้โผล่มาอีก ทั้งที่ผู้ติดเชื้อในอังกฤษที่เจอการกลายพันธุ์รอบใหม่นี้ ไม่มีประวัติเดินทางไปยังแอฟริกาใต้แต่อย่างใด ดังนั้นต้องติดตามการพัฒนาของไวรัสอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีประเด็นเรื่องลดการตอบสนองต่อวัคซีน และประเทศไทยต้องป้องกันอย่าให้ระบาดในชุมชน ต้องกักให้อยู่ในที่กักกันก่อนที่เราจะได้รับวัคซีนจนครบ