xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ประกาศมาตรการฉุกเฉินหลังพบบุคลากรติดโควิด-19 เพิ่ม 2 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ประกาศมาตรการของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 2 คนรวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3 คนแล้ว โดยให้เร่งการสอบสวนโรคและให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปตรวจคัดกรองโรค

โดยในประกาศมาตรการของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 2/2564 ระบุว่า

ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ได้รับแจ้งว่ามีบุคลากรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังประกาศมาตรการของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ฉบับที่ 1/2564 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และขณะนี้บุคลากรคนดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น

คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรคนดังกล่าวให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ และพบว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติมอีก 2 คน ซึ่งพักอยู่ห้องติดกับผู้ป่วยรายแรกและมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกัน

คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 จึงกำหนดมาตรการในดำเนินการดังต่อไปนี้

1. สอบสวนโรคผู้ป่วย 2 คนใหม่โดยเร็วที่สุด

2. ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2 คนดังกล่าวให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โดยทันที

3. สอบสวนวงจรการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อกำหนดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงภายในระยะเวลา 14 วัน ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ลาหยุดเพื่อกักบริเวณดูอาการเป็นเวลา 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา และสามารถขอรับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริหารสุขภาพ จุฬาฯ โดยมหาวิทยาลัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

4. ให้สำนักบริหารระบบกายภาพฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาดตามมาตรฐานทางสาธารณสุขทั่วพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มอีกรอบหนึ่ง

โดยมหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการมาตรการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในฉบับที่ 1 ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและต้องไปตรวจคัดกรองโรค คือ สมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีการใกล้ชิดกัน ผู้ที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วย 5 นาทีขึ้นไป ผู้ที่ผู้ป่วยมีอาการไอ จาม รด และผู้ที่อยู่ในสถานที่อับอากาศกับผู้ป่วยเกิน 15 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย สำหรับพฤติการณ์อื่นๆ เช่น การพักอยู่อาคารเดียวกันกับผู้ป่วย การใช้พื้นที่สาธารณะเดียวกันกับผู้ป่วยนั้นมิได้เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงสูง จึงไม่ควรตระหนกแต่ควรระมัดระวัง รักษาความสะอาด ไม่ไปในที่สาธารณะ และหมั่นประเมินสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ

หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไปผ่านทาง https://www.chula.ac.th/covid-19/ หัวข้อ ข่าวสาร COVID-19