xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลเผย ปชช.พอใจมาตรการคุมโควิด-19 รอบใหม่ ผ่อนคลายมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพ จำนวน 1,315 คน จากทั่วประเทศ เรื่อง "COVID-19 รอบใหม่"

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 25.86 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลย ในการป้องกันตนเอง และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาให้หายขาด ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว พบผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากขึ้นทำให้ติดกันง่ายกว่าเดิม จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานและต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี หลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ในการรักษาให้หาย และร้อยละ 17.49 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มีการป้องกันตนเองอย่างดีมาก และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ พบว่า ร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ร้อยละ 20.99 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การคุมเข้มกับกิจกรรมบางอย่างยังไม่รัดกุม เช่น ให้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางข้ามจังหวัด และการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวยังขาดการควบคุมที่รัดกุม ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก และร้อยละ 9.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ต้องการให้มีการควบคุมที่เข้มข้นเหมือนครั้งก่อน และต้องการให้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ร้อยละ 43.57 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพ หารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 14.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม และต้องการให้เลื่อนระยะเวลาการเปิดสถานศึกษาออกไปอีก ร้อยละ 6.39 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลยการป้องกันตนเองโดยเฉพาะเด็กนักเรียน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ลดลง และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 ระบุว่า จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 23.57 ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 7.98 ระบุว่า จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ และร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ