รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 31 มกราคม 2564
ทะลุ 103 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 542,482 คน รวมแล้วตอนนี้ 103,067,009 คน ตายเพิ่มอีก 13,591 คน ยอดตายรวม 2,226,554 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 169,432 คน รวม 26,631,590 คน ตายเพิ่มอีก 3,471 คน ยอดตายรวม 449,916 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 19,631 คน รวม 10,746,871 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 58,462 คน รวม 9,176,975 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,032 คน รวม 3,832,080 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 23,275 คน รวม 3,796,088 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
อีก 3 วัน สาธารณรัฐเชคจะแตะหลักล้าน ในขณะที่เนเธอร์แลนด์จะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์จะแตะล้านเช่นกัน เป็นประเทศที่ 20 และ 21 ตามลำดับ
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 349 คน ตายเพิ่มอีก 10 คน ตอนนี้ยอดรวม 139,864 คน ตายไป 3,125 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%
วิเคราะห์จากข้อมูลที่มี ประเทศที่มีการระบาดซ้ำ ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถกดให้การระบาดจนหมดไปได้แบบระลอกแรก
ส่วนใหญ่แล้วจะประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดด้านทรัพยากรในระบบสุขภาพ ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินไปจะทำได้อย่างมากคือกดการระบาดให้ต่ำลง
มีทั้งที่กดไม่ได้ แล้วระบาดรุนแรงขึ้นไปอีก
และมีทั้งที่กดลงมาได้ แต่จะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวัน เป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ช่วง 4 สัปดาห์แรกของการระบาดซ้ำนั้นเป็นช่วงเวลาทองที่จะกดการระบาด หากทำสำเร็จจะมีโอกาสระบาดซ้ำรุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักคือ การดำเนินมาตรการเคร่งครัดเฉียบขาดอย่างทันเวลา, การตรวจคัดกรองโรคอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง, และความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้หากทำได้ทั้งสามองค์ประกอบ ก็จะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น โดยจากสถิติที่ติดตาม พบว่า มีประเทศที่รุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก 12% ในขณะที่ส่วนใหญ่จะระบาดซ้ำรุนแรงกว่าระลอกแรก เฉลี่ยแล้วจะมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าเดิม 5 เท่า และสู้ยาวนานกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า
เคยคาดการณ์เพื่อให้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วว่า หากเราเป็นแบบประเทศส่วนใหญ่ 88% นั้น จะมีโอกาสตรวจพบติดเชื้อต่อวันสูงราว 940 คน และสู้ยาวราว 88 วัน หรือสามเดือน เพื่อหวังให้เราวางแผนการใช้ชีวิต และเตรียมรับมืออย่างมีสติ ภายใต้ข้อมูลความรู้ที่มีไว้เพื่อเป็นไฟส่องนำทาง
พรุ่งนี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ขอให้ดำรงชีวิตโดยเน้นความปลอดภัยนะครับ เพราะสัจธรรมคือ หากมีการเคลื่อนที่ของประชากรมากขึ้น การแพร่เชื้อรับเชื้อจะมีโอกาสมากขึ้น และด้วยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นข้างต้นว่า น่าจะยังไม่จบศึกสงคราม จะมีผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมอยู่อีกจำนวนไม่น้อย หากทุกคนป้องกันตัวเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้ออยู่ก็ตาม โอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อกันก็จะน้อยลง แต่หากไม่ป้องกัน เพิกเฉย ละเลย รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็จะมีโอกาสเห็นการระบาดที่รุนแรงขึ้นไปอีกได้
หากประเมินตามเงื่อนเวลา จุดตัดสินลักษณะการระบาดในอนาคตของเรา จะอยู่ในช่วงกลางมีนาคมเป็นต้นไป หากสามารถกดการระบาดให้จำนวนติดเชื้อต่อวันเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะมีช่วงเวลาที่ระบาดแบบน้อยๆ ไปเรื่อยๆ ได้นานหน่อย แต่หากขยับหลักขึ้นไปจากสิบเป็นร้อยจากร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่น ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงก็จะน้อยลงตามลำดับ "ทุกหลักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงสั้นลงประมาณ 3 สัปดาห์"
ขณะนี้หลายประเทศมักเจอระบาดระลอกสอง แต่มีถึง 13 ประเทศแล้วที่ประสบปัญหาระลอกสามครับ ทั้งนี้ 12 ประเทศ (92.3%) มีการระบาดซ้ำที่หนักกว่าเดิม
หวังว่าพวกเราจะร่วมด้วยช่วยกัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นหนึ่งเมตร ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ไม่กินดื่มในร้านหากไม่จำเป็นจริงๆ ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า
คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ