เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพนต์ระบุว่า นับถอยหลังอีก 27 วัน เพอร์เซเวียแรนซ์จะถึงดาวอังคารแล้ว ขณะนี้รถสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนส์” (Perseverance Rover) กำลังมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร และเหลือระยะทางอีกประมาณ 6.29 ล้านกิโลเมตร* ก่อนจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ด้วยความเร็วประมาณ 19,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจะร่อนลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาตเจซีโร เป็นอีกหนึ่งเหตการณ์สำคัญของการสำรวจอวกาศที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง (*ข้อมูล ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564)
ชวนมารู้จักกับรถสำรวจดาวอังคารคันนี้ให้มากขึ้นอีกนิดกับ "7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนการลงจอดของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์"
1) เพอร์เซเวียแรนส์จะค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์
จากภารกิจสำรวจดาวอังคารที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า ในอดีตเคยมีแม่น้ำบนพื้นผิวดาวอังคารและอาจเคยมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์ (Microbial life) ดังนั้น การค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จึงเป็นภารกิจสำคัญของเพอร์เซเวียแรนส์
เพอร์เซเวียแรนส์ติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ เช่น SHERLOC (Scanning Habitable Environments with Raman & Luminescence for Organics & Chemicals) ที่สามารถตรวจจับสารอินทรีย์และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากน้ำในอดีต และ PIXL (Planetary Instrument for X-ray Lithochemistry) ที่สามารถระบุองค์ธาตุประกอบของดินและหินขนาดเล็กได้ เครื่องมือทั้งสองจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์คุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยความละเอียดสูงกว่ารถสำรวจทุกรุ่นที่เคยมีมา
อีกทั้ง เพอร์เซเวียแรนส์ยังติดตั้งกล้อง Mastcam-Z ที่สามารถซูมไปยังพื้นผิวของหินจากระยะไกล และอุปกรณ์ SuperCam ที่จะยิงเลเซอร์ไปยังหินและฝุ่นเรโกลิธ (regolith) เพื่อศึกษาองค์ประกอบจากไอระเหยที่เกิดขึ้น และยังมี RIMFAX (Radar Imager for Mars 'Subsurface Experiment) ที่จะใช้คลื่นเรดาร์ตรวจสอบลักษณะทางธรณีวิทยาใต้ดิน
2) เพอร์เซเวียแรนส์จะลงจอดในพื้นที่เหมาะสมสำหรับการค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต
เพอร์เซเวียแรนส์จะลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero) เป็นแอ่งน้ำกว้างประมาณ 45 กิโลเมตร ประกอบด้วยหน้าผาสูงชัน เนินทราย และลานหิน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าบริเวณ “สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ” ที่มีร่องรอยการทับถมของตะกอนจะเป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาโมเลกุลของสารอินทรีย์ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
3) เพอร์เซเวียแรนส์จะรวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธรณีวิทยา และสภาพภูมิอากาศของดาวอังคาร
เพอร์เซเวียแรนส์จะศึกษาสภาพภูมิอากาศ และประวัติทางธรณีวิทยาที่ฝังอยู่ในหินเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสภาพแวดล้อมในอดีตของดาวอังคาร และสามารถอธิบายความคล้ายคลึงกันของโลกกับดาวอังคารในอดีต รวมถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
4) เพอร์เซเวียแรนส์เป็นก้าวแรกสำหรับการเดินทางไป-กลับดาวอังคาร
เพอร์เซเวียแรนสจะเก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคาร โดยตัดให้มีขนาดประมาณแท่งชอล์ก และบรรจุไว้ในแคปซูลเก็บตัวอย่าง จากน้ันจะเก็บไว้จนกว่าจะมีภารกิจเก็บตัวอย่างในอนาคต เพื่อนำกลับมาศึกษาต่อบนโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการนำตัวอย่างกลับมาศึกษาบนโลกด้วยเครื่องมือที่ใหญ่และมีความละเอียดสูง จะช่วยให้การวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5) เพอร์เซเวียแรนส์เป็นเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะช่วยปูทางสำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคารของมนุษย์ในอนาคต
เพอร์เซเวียแรนส์จะลงจอดด้วยระบบ Terrain-Relative Navigation ที่ช่วยให้ยานเข้าสู่ตำแหน่งลงจอดได้อย่างอัตโนมัติ และยังมีคำสั่งการล่วงหน้าที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระมากกว่ารถสำรวจคันอื่น ๆ ในขณะเดียวกันนั้นเครื่องมือ MEDLI2 (Mars Entry, Descent and Landing Instrumentation 2) ก็จะเก็บข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อนำไปปรับปรุงระบบการลงจอดสำหรับยานสำรวจในอนาคต
เมื่อเริ่มปฏิบัติภารกิจ เครื่องมือ MEDA (Mars Environmental Dynamics Analyzer) จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศ และฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ รวมถึงจะมีการทดสอบเทคโนโลยีที่เรียกว่า MOXIE (Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment) ซึ่งจะผลิตออกซิเจนจากคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของยานและใช้ในการดำรงชีพของนักบินอวกาศในอนาคต
นอกจากนี้ ใต้ท้องของเพอร์เซเวียแรนส์ได้บรรจุเฮลิคอปเตอร์ อินเจนูอิตี (Ingenuity) เอาไว้ ซึ่งเป็นการทดสอบการบินด้วยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนครั้งแรกบนดาวเคราะห์ดวงอื่น หากการบินเป็นไปด้วยความราบรื่นจะช่วยพัฒนาวิธีการสำรวจ และเพิ่มศักยภาพของนักบินอวกาศในอนาคต
6) เพอร์เซเวียแรนส์เป็นเครื่องหมายแห่งความเพียรพยายาม
เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) มีความหมายว่า “ความเพียรพยายาม” เป็นความพยายามที่จะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่จะต้องพบเจอในอนาคต ทั้งนี้จากอุปสรรคในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทีมควบคุมได้ติดตั้งแผ่นจานพิเศษไปกับเพอร์เซเวียแรนส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ความทุ่มเท เสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก รวมทั้งนักบินอวกาศรุ่นใหม่ในอนาคต
7) ทุกคนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจนี้
เพอร์เซเวียแรนส์ติดตั้งกล้องความละเอียดสูง จำนวนทั้งสิ้น 23 ตัว แบ่งเป็น 19 ตัวบนรถสำรวจ และอีก 4 ตัวเป็นกล้องที่ใช้ขณะลงจอด นับเป็นภารกิจที่มีกล้องมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงมีไมโครโฟนที่ติดกับตัวรถสำรวจ และติดกับอุปกรณ์ SuperCam ทั้งหมดนี้จะช่วยบันทึกภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่เสียงลมขณะปฏิบัติภารกิจ และจะเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของนาซา จึงเรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่ผู้คนทั่วโลกสามารถติดตามและเข้าถึงข้อมูลการสำรวจเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการสำรวจดาวอังคารในครั้งนี้
ระหว่างนี้ เราสามารถอัพเดทการเดินทางไปยังดาวอังคารของเพอร์เซเวียแรนส์ผ่านแบบจำลองสามมิติได้ที่ Eyes on the Solar System https://eyes.nasa.gov/