เดือนมกราคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือรณรงค์ให้ความรู้สาวๆ ยุค New Normal ในแคมเปญรณรงค์ "Say kNOw HPV ก้าวที่คุณเลือกได้" จัดกิจกรรมในรูปแบบ Virtual Event AR Technology โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ นาวาอากาศเอก นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ประกาศสารรณรงค์ในปี 2564 ถึงสตรีไทย "Say Know HPV ก้าวที่คุณเลือกได้" โดยเน้นย้ำสาวไทยยุคใหม่ต้องหยุดยั้งไวรัสเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน พร้อมเปิดนวัตกรรมใหม่วัคซีนป้องกันเอชพีวี ชนิด 9 สายพันธุ์ เพิ่มอัตราการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้นถึง 90% โดยมีนางเอก เบลล่า-ราณี แคมเปน นักแสดงสาวสุดปังแห่งยุค ร่วมรณรงค์ Say kNOw HPV และร่วมเปิดประสบการณ์ประเดิมวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ชนิด 9 สายพันธุ์ ณ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
นาวาอากาศเอก นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า "ไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และเนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงมากพอสมควร โดยในแต่ละปีมีผู้หญิงกว่า 500,000 คนทั่วโลก ที่เป็นโรคนี้ และกว่า 250,000 คน ต้องเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงชาวเอเชีย สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 8,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 4,500 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 14 ราย เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของบุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช และเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและการให้บริการแก่ประชาชนด้านโรคมะเร็งในสตรี จึงต้องออกมารณรงค์กันทุกปี เพราะเราต้องการให้ข้อความรณรงค์เหล่านี้ได้ส่งสารถึงผู้หญิงไทยทุกคนให้ตระหนักและรู้จักดูแลตัวเอง เน้นให้ความสำคัญถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเอชพีวี เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเชื้อตัวนี้ปัจจุบันเรามีวิธีป้องกันได้แล้ว จึงควรที่จะรณรงค์ให้สตรีไทยได้ตระหนักรู้ในวงกว้างมากขึ้น Say know HPV คือเมื่อเรารู้จัก Say Know และป้องกัน Say No ไวรัส HPV ได้ ก็เท่ากับป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้"
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีว่า "เชื้อเอชพีวีมีหลายสายพันธุ์ แต่จะมีไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย ได้แก่ HPV 6, 11 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด HPV 16, 18 สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก ส่วน HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เป็น 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย และ HPV 16, 51, 52 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยในสตรีไทย โดยข้อมูลมาจากผลการวิจัยจากโครงการเฝ้าระวังและป้องกันมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ดีเอ็นเอ ในปี พ.ศ.2554 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองตลอดจนนำมาขยายผลต่อด้วยการศึกษาวิจัยสาเหตุ และอุบัติการณ์ของโรคในระดับชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการรักษาและการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราตรวจไปประมาณ 10,000 ราย พบการติดเชื้อไวรัส HPV ความเสี่ยงสูง ร้อยละ 6.0 และสายพันธ์ที่พบบ่อย คือ 52, 16, 51 ซึ่งในทางตะวันตกจะพบสายพันธ์ 16 บ่อยที่สุด และเราพบมะเร็งปากมดลูก 4 ราย และการตรวจติดตามด้วยการตรวจ HPV ที่ 5 ปี ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่มะเร็งปากมดลูกในกลุ่มตัวอย่างอีกเลย จึงเป็นตัวอย่างที่บอกว่า การขจัดมะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นไปได้จริง การป้องกันมะเร็งปากมดลูกผู้หญิงเราทุกคนทำได้ ซึ่งเป็นสารรณรงค์ในทุกๆ ปี ที่เราจะชวนสาวๆ ไทย หยุดยั้งไวรัสเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน"
การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่ในปัจจุบันนี้ โดยการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) สามารถระบุได้ถึงการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ไหนได้ถึง 14 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66, 68 โดยรวมสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความรุนแรงสูง และสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ 16, 51, 52 ที่จะพัฒนารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกรวมอยู่ด้วย การคัดกรองจะช่วยบอกให้แพทย์ทราบว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ เนื่องจากการติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ การตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงของคุณในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ได้เปิดเผยถึงข้อมูลวัคซีนป้องกันเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมป้องกันมะเร็งปากมดลูกใหม่ล่าสุดที่นำมาเปิดตัวในแคมเปญรณรงค์ปีนี้ว่า
"ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยเรามีวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ชนิด 9 สายพันธุ์เข้ามาแล้ว จากเดิมวัคซีนป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18 ซึ่งถือว่าป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% แต่พอเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ 9 สายพันธุ์ คือได้เพิ่มมาอีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ 31, 33, 45, 52, 58 จะช่วยเพิ่มอัตราการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้นถึง 90% ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเด็กช่วงอายุ 9-15 ปี จะเป็นช่วงวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด เนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ โดยจะรับวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนที่ 0 และ 6 สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะต้องรับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6 และสำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 45 ปี ไม่มีข้อมูลของวัคซีน หากต้องการฉีดแนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำก่อนรับวัคซีน"
อนึ่ง ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ให้บริการครอบคลุม เรื่องการตรวจปรึกษาและรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช และมะเร็งนรีเวช ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากดลูก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและเอชพีวี ดีเอ็นเอ การคัดกรองมะเร็งรังไข่ การรักษามะเร็งนรีเวช ทั้งการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด การฉายแสง รวมถึงการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชที่ทันสมัย แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องและการผ่าตัดแบบไร้แผล
สำหรับสุภาพสตรีที่สนใจเข้ารับการตรวจคัดกรองหรือรับวัคซีนป้องกันเอชพีวี ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถนัดหมายผ่านทาง LINE Official โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กดเมนู "ศูนย์การรักษา" เลือกศูนย์สุขภาพสตรี และกดเลือก Chat กับศูนย์ เพื่อนัดหมายการตรวจคัดกรองและรับการฉีดวัคซีนป้องกัน หรือถ้าใครอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีเพิ่มเติมก็สามารถคลิกปุ่ม Say kNOw HPV เพื่อศึกษาข้อมูลได้เลย