xs
xsm
sm
md
lg

กษ.กำหนด 5 นโยบายหนุนสินค้า-ผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานตามแนวทางดังกล่าว

สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล เนื่องจากในปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 48,004,350 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ในปี 2569 จะเพิ่มมูลค่าสูงถึง 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 71,545,354 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล ประมาณ 150,000 รายการ และเพื่อให้การตั้งเป้าหมายนี้สัมฤทธิ์ผล กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล ประกอบด้วย 1.นโยบายเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล 2.นโยบายยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร 3.นโยบายเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิตและการบริหารจัดการ ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค 4.นโยบายเพิ่มศักยภาพทางตลาดและโลจิสติกส์ 5.นโยบายยกระดับความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับ 5 นโยบายนี้ มีแนวทางการดำเนินงานสำคัญๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) การจัดตั้งสถาบันฮาลาล การส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (H Number) ระบบศูนย์ข้อมูลกลางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล (System Protocol for Halal Electronic Resources Exchange) วิสัยทัศน์ฮาลาลนี้ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาลอย่างครบวงจร รวมถึงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัว และในด้านการต่างประเทศ รัฐบาลได้ผลักดันแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ที่กำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยสร้างการยอมรับมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในอนุภูมิภาคให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก