xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี พระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจาก มรภ.มหาสารคาม วันสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เวลา 17.01น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีการศึกษา 2559 ถึง 2560 เป็นวันสุดท้าย

ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร ที่มีความสง่างาม องอาจ เข้มแข็ง ทรงมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ตามแบบฉบับของทหารอย่างแท้จริง และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ พระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตและปริญญาบัตรมหาบัณฑิต แก่ผู้แทนมหาวิทยาลัย พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จำนวน 1,983 คน ซึ่งในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปีการศึกษา 2559 ถึง 2560

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นนั้น น่าพอใจอย่างมาก กล่าวได้ว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ มีความรู้ความสามารถเป็นพื้นฐานที่ดี เหมาะที่จะเป็นผู้นำและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาท้องถิ่นได้ ดังนั้น เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงาน ไม่ว่าจะเป็นงานใด อยู่ ณ ที่ใดก็ตาม นอกเหนือจากงานในหน้าที่แล้ว ทุกคนจึงควรจะได้ถืองานพัฒนาท้องถิ่นเป็นงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย หากบัณฑิตทุกคนเข้าใจดังนี้ แล้วนำความรู้ความสามารถและประสพการณ์ที่มีอยู่มาปรับใช้ในการปฏิบัติให้บังเกิดผล แต่ละท้องถิ่นอันเป็นรากฐานของประเทศ ก็จะมีความเจริญวัฒนายิ่งๆ ขึ้น และส่วนรวมคือชาติบ้านเมือง ก็จะมีความเจริญมั่นคงอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จากเกษตรเคมียกระดับสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ได้รับ มาตรฐานข้าว GAP มาตรฐานข้าวอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรมีงานมีอาชีพที่มั่นคง