นายอัมพร พินะสา รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่มีภาคประชาชนเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอเสนอมาตรการ "หยุดการใช้ความรุนแรงเพื่อการอบรมนักเรียน" จำนวน 9 ข้อ ได้แก่ 1. ประกาศเป็นโรงเรียนไม่ใช้พฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ เพื่อการอบรมสั่งสอน 2. แจ้งกับครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนว่า เรื่องนี้ห้ามเกิดขึ้นในโรงเรียน โดยทุกคนที่เข้ามาทางานต้องรับทราบเรื่องนี้ รวมทั้งให้เซ็นรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร 3. ถ้าพิสูจน์ว่ากระทำจริงจะไม่มีโอกาสได้ทำงานในโรงเรียนนี้อีก โดยจะไม่มีการใช้การขอโทษยอมรับผิด และให้ทำงานต่อ 4. เจ้าหน้าที่และครูที่เห็นเหตุการณ์ และไม่เข้าช่วยเหลือ รวมถึงไม่แจ้งเหตุแก่ผู้บริหารโรงเรียน จะถือเป็นความผิดแบบเดียวกัน
5. อบรมเด็กทุกคนให้เป็นผู้แจ้งเหตุโดยทันที รวมถึงแต่งตั้งนักเรียน อาจเป็นหัวหน้า รองหัวหน้าห้อง ให้ทำหน้าที่แจ้งเหตุ 6. เมื่อรับแจ้งเหตุแล้ว ให้ผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงต่อนักเรียนหยุดปฏิบัติการในโรงเรียน หรือห้องที่มีการกระทำรุนแรงเกิดขึ้น จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เอาคืนกับเด็ก หรือเกลี้ยกล่อม หรือใช้อิทธิพลแบบอื่นกับเด็กที่ถูกกระทำและเด็กที่แจ้งเหตุ 7. ติดกล้องวงจรปิดตามที่ต่าง ๆ ที่นักเรียนอยู่ไม่ว่าจะเป็นในห้อง นอกห้อง มีผู้เฝ้าดูวงจรปิด และแจ้งเหตุทันทีที่เกิดขึ้น 8. ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่สามารถดูแลให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ และนับเป็นความผิด 9. เพิ่มทักษะครูให้มีวิธีทางบวกในการอบรมเด็ก (โดยเฉพาะครูฝ่ายปกครองและครูที่เชื่อว่าจำเป็นต้องลงโทษด้วยการตี หรือดุด่าเท่านั้นจึงจะได้ผล)
ซึ่งทุกข้อเสนอตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และเร็วๆ นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้ โดยกรรมการจะมาจากทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้ทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ตนได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่ามีข้อเรียกที่เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดระหว่างครูและนักเรียนจำนวน 6 เรื่อง จึงได้กำชับให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด