พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่มักพบบ่อย คือ การสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษา และมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น โดยปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบบ่อยพบว่า ร้อยละ 52.6 เป็นโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 36.3 เป็นโรคปริทันต์ และร้อยละ 16.5 เป็นรากฟันผุ
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 18 ต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วน ร้อยละ 6.5 ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 18.9 ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด พบค่าเฉลี่ยฟันแท้ที่มีในช่องปากประมาณ 19 ซี่/คน และผู้สูงอายุกว่า ร้อยละ 60 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่ ดังนั้นการส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ โดยควรลดกินอาหารหวาน เหนียว เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันเป็นเวลานาน ทำความสะอาดยาก เสี่ยงเกิดฟันผุและควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยวได้ เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใย