นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมหลุดลงในคอ ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก หากชิ้นส่วนของฟันปลอมหลุดลงไปในหลอดลมหรือทางเดินหายใจ ดังนั้น หากฟันปลอมชำรุด แตก หัก หลวม หลุดง่าย ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข ไม่ควรซ่อมหรือแก้ฟันปลอมด้วยตนเอง และควรรับการดูแลรักษาจากทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ขณะที่ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่า การใส่ฟันปลอมมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบ หากไม่ได้ดูแลเรื่องการแปรงฟันและการทำความสะอาดฟันปลอมอย่างเหมาะสม อีกทั้งเมื่อใช้ฟันปลอมไประยะหนึ่ง ฟันปลอมอาจหลวม เนื่องจากมีการแตกหักของฐานฟันปลอม ตะขอหัก หรือตะขออ้าไม่รัดแน่นเหมือนเดิม หรือกระดูกใต้ฐานฟันปลอมมีการละลายตัว ทำให้ฟันปลอมหลวมและกระดกได้ ใช้งานแล้วอาจมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกหรือฟัน จึงควรพบทันตแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการเจ็บเพื่อแก้ไขฟันปลอม ซึ่งบางรายต้องเสริมฐานฟันปลอมหรือปรับตะขอให้แน่นขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องทำใหม่ถ้ามีฟันที่ถูกถอนออกไปมากขึ้น
ดังนั้น จึงควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจฟันว่ามีฟันผุหรือไม่ มีหินปูน เหงือกอักเสบหรือไม่ และตรวจเช็กฟันปลอมว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและฟันปลอมอย่างถูกวิธี