นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏว่า อสม.ใน จ.พิษณุโลก ไม่ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานเต็มจำนวน 240 บาท ตามที่กำหนดไว้ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรค COVID-19 จนนำไปสู่การร้องเรียนตามข่าวที่ปรากฏในสื่อสาธารณะต่างๆ และขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนว่าจะได้รับ เงินค่าตอบแทนเต็มจำนวน 240 บาท หรือได้รับแค่ 120 บาทนั้น แต่ปรากฏว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ ดีอี ได้นำเสนอระบุว่าเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาไม่ตรงกับความจริง หรือเป็นข่าวบิดเบือน ในขณะที่ อสม.ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ในเวลานี้นั้นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น จนมี อสม.จำนวนมากออกมาบุกศาลากลาง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 ที่ผ่านมา การสื่อสารในลักษณะดังกล่าวได้ก่อให้เกิด ความสับสนและหลายฝ่ายโดยเฉพาะเครือข่าย อสม.ทราบแล้วไม่สบายใจ ซึ่งถือได้ว่าศูนย์ฯ ดังกล่าวมีเจตนาที่จะทำลายความเชื่อถือของ อสม. และสร้างข่าวบิดเบือน เพื่อเอาใจฝ่ายราชการหรือรัฐบาลด้วยกันเอง โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายที่หน่วยงานของตนพึงปฏิบัติเสียเอง นั่นคือการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ อสม. หรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม ม.14 แห่ง พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดต่อคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 อันถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยตรงด้วย
กรณีที่เกิดขึ้น“นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ เพราะได้ออกมาสร้างผลงานแถลงข่าวจับกุมผู้สร้างข่าวปลอมหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อหน่วยงานของตนเองสร้างข่าวบิดเบือนเสียเอง กลับเงียบเฉยปล่อยผ่านไปเสียนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้บริหารที่มีหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯดังกล่าว ซึ่งควรต้องตั้งกรรมการมาสอบเอาผิดผู้ที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมาในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของดีอีหรือของรัฐบาลเสียเอง
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและเอาผิด รมว.ดีอีและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ค.63 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี