xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.เปิดเว็บ เยียวยาเกษตรกร.com ให้เกษตรกรลงทะเบียนรับเงิน 15,000 บาท เริ่ม 7 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จะเปิดให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์รับเงินจากมาตรการช่วยเหลือ "เยียวยาเกษตรกร" ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. แต่มีบัญชีของธนาคารอื่น สามารถลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์รับเงินเยียว จะต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครอบคลุมเกษตรกร 10 ล้านราย ใช้งบประมาณรวม 150,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้

ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรที่มีบัญชีของ ธ.ก.ส. อยู่แล้วทาง ธ.ก.ส. จะรับข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ในกรณีเกษตรกรมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. แล้ว สามารถใช้บัญชีเงินฝากเดิมได้หลังจากระบบประมวลข้อมูลและตรวจสอบบัญชีเงินฝากของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการเยียวยา จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับความช่วยเหลือในมาตรการ "เราไม่ทิ้งกัน" เมื่อ ธ.ก.ส. ได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง จะรีบดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรต่อไป โดยจะกระจายการโอนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณวันละ 1 ล้านราย

นายอภิรมย์ กล่าวว่า โครงการเงินบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว ธ.ก.ส. จะเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากเกษตรกรไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. แล้ว ยังสามารถใช้บัตร ATM ของ ธ.ก.ส. ถอนเงินจากตู้ ATM ของทุกธนาคาร หรือใช้โทรศัพท์มือถือที่มีแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ที่ตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เงินเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท 3 เดือน รวม 15,000 บาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว เป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ จำนวน 8.43 ล้านราย และกลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ไม่เกิน 1.57 ล้านราย