ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,402 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เรื่อง เสียงสะท้อนคนไทยต่อมาตรการเยียวยา
เมื่อถามประชาชนว่า "มาตรการที่ท่านมีสิทธิได้รับการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19" ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.6 มีสิทธิหรือเข้าถึงมาตรการดูแลเยียวยารายได้ลูกจ้าง แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ รองลงมา คือ มาตรการดูแลและเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 21.8 และมาตรการดูแลและเยียวยาจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรค COVID-19 คิดเป็นร้อยละ 12.9
สำหรับสิ่งที่ต้องการมากที่สุดจากการเยียวยา คือ เงินเยียวยา คิดเป็นร้อยละ 70.9 รองลงมาคือ ไม่ถูกพักงานหรือลดเงินเดือน คิดเป็นร้อยละ 7.2 พักชำระหนี้จากสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 6.9 ข้าวสารอาหารแห้ง คิดเป็นร้อยละ 4.5 และลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค คิดเป็นร้อยละ 4.2
เมื่อถามว่า "คิดเห็นอย่างไรต่อการจัดการมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีหลากหลายมาตรการไปยังคนหลากหลายกลุ่ม" ประชาชนร้อยละ 37.5 เห็นว่า ควรหาวิธีการเยียวยาที่เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 25.5 เห็นว่า ไม่ต้องมีระบบการลงทะเบียน ควรแจกตามฐานข้อมูลสำเนาทะเบียนราษฎร์ และร้อยละ 17.7 เห็นว่าการเยียวยาต้องรวดเร็วและตรวจสอบง่ายมากกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า "ท่านจะทำอย่างไรหากไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย" ประชาชนร้อยละ 45.7 จะกู้ยืมมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 41.1 จะร้องเรียน/ทบทวนสิทธิประโยชน์อีกครั้ง ร้อยละ 39.5 จะประหยัด พอเพียง และร้อยละ 16.1 จะเปลี่ยนอาชีพ หางานพิเศษ
สุดท้าย เมื่อถามความเห็นต่อแรงงานไทย ผู้มีอาชีพอิสระ ควรได้รับหลักประกันใดที่เหมาะสม จากวิกฤตที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 30.9 เห็นว่าควรให้แรงงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเก็บออม โดยมีรัฐเป็นผู้สมทบในกองทุนมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 27.3 เห็นว่าควรมีการลงทะเบียนแรงงานในระบบที่ตรวจสอบได้ และร้อยละ 19.5 เห็นว่าควรมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมสำหรับแรงงานเพื่อรักษาสภาพคล่องยามจำเป็น