เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. โพสต์ระบุว่า NARIT ชวนชมดาวศุกร์สว่างที่สุด 2 ครั้งในรอบปี ช่วงค่ำวันที่ 28 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 18.30-21.00 น. และรุ่งเช้าวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 03:30-06:00 น. วันดังกล่าวจะสังเกตเห็นดาวศุกร์สว่างสุกใส ดูได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทั่วประเทศ คาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวงมีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12.6) และหากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
การที่ดาวศุกร์ปรากฏสว่างมากที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะทางที่เหมาะสม สำหรับในช่วงวันอื่นๆแม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฎสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้นคนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก
หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”