นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก“ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา thiravat hemachudha”ระบุว่า #ประเทศไทยต้องสีเขียวทั้งประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันและเข้าใจถึงความสำคัญของการดูแลตนเอง ไม่พาตัวเข้าที่เสี่ยง ชุมชนหนาแน่น เพราะคนแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวแม้ไม่มีอาการจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อให้คนอื่น
การที่การติดเชื้อจำกัดอยู่ในหนุ่มสาวที่แข็งแรง ทำให้ไม่มีการแสดงอาการใดๆ ชัดเจนหรือแม้แต่ไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจาก 12.6% ในระยะฟักตัวสามารถที่จะแพร่เชื้อได้ (EID mar 4,2020) นอกจากนั้นยังมีคนที่สามารถแพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการ ยกตัวอย่างเช่นเรือ Diamond princess จากข้อมูลในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการตรวจ PCR เป็นจำนวน 1723 รายและพบคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการถึง 189 ราย (science china life science 4 มีนาคม 2020)
การวิจัยที่รายงานในวารสาร Science โดยคำนวณข้อมูลของประเทศจีนในช่วงแรกของการระบาด (ก่อนที่จะมีมาตรการที่เข้มงวด) และในช่วงหลังของการระบาด (ซึ่งมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ประชาชนร่วมมือและป้องกันตนเองมากขึ้นแล้ว) พบว่า
- ในช่วงแรกของการระบาดในจีน มีผู้ที่สามารถจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว 6.2 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน
- ในช่วงหลังของการระบาดในจีน ที่มาตรการและระบบการดูแลดีขึ้น มีผู้ที่สามารถจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว 0.5 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน(วิเคราะห์และประมวลข้อมูล โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ)
จากลักษณะที่การติดต่อ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าใครเป็นคนติดเชื้อและแพร่เชื้อ ทำให้เชื้อลุกลาม เข้าไปในกลุ่มเปราะบางสูงอายุและมีโรคประจำตัวและมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ตั้งแต่ 14.6% จนกระทั่งถึง 25% (lancet mar 4, 2000)
การแพร่ในลักษณะดังกล่าวทำให้ต้องระวังที่จะทำให้มีการติดเชื้อในโรงพยาบาล แม้กระทั่งที่เกิดในประเทศไทยแล้วในหลายโรงพยาบาล ทั้งจากผู้ป่วยที่มาด้วยอาการอื่นที่ไม่ใช่ระบบทางเดินหายใจแต่ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมมาด้วยและมาแสดงอาการในโรงพยาบาลในระยะหลัง หรือที่เกิดจากคนที่มาเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลโดยไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว