ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การควบคุมโรคโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,302 ตัวอย่าง
เมื่อถามถึงปัญหาสุขภาพของตนเองหรือคนใกล้ชิดที่ติดต่อจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 พบว่า เพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น ที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 รองลงมา หรือร้อยละ 30.7 ระบุ ไม่เกี่ยวข้องกัน และส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 67.4 ระบุ ยังไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรที่น่ากลัว
เมื่อถามถึงความใส่ใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโรคระบาด พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 71.2 ระบุ รัฐบาลใส่ใจมาก ถึง มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 25.2 ระบุ ปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 3.6 ระบุ ใส่ใจน้อย ถึง ไม่ใส่ใจเลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.9 พอใจมาก ถึง มากที่สุด ต่อหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุมโรคระบาด ในขณะที่ร้อยละ 21.7 พอใจปานกลาง และร้อยละ 9.4 พอใจน้อย ถึง ไม่พอใจเลย
ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.4 กลัวปัญหาปากท้อง กลัวไม่มีจะกิน หากินขัดสน มากกว่า กลัวปัญหาโรคระบาด โคโรนา (โควิด-19) ในขณะที่ร้อยละ 22.6 กลัวโรคระบาด โคโรนา (โควิด-19) มากกว่า
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า การตื่นตัวดูแลสุขภาพแต่ไม่ตื่นตระหนกเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าตื่นตระหนกเกินเหตุ เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าโรคระบาด เพราะอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวง และอาจจะซ้ำเติมความเสียหาย ความเดือดร้อนของประชาชนด้านอื่นๆ ได้ ในเวลานี้ที่ควรเน้นในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ต่อสาธารณชน มีเพียง 3 อย่างที่ควรสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง คือ 1. หมั่นล้างมือ ไม่เอามือลูบหน้าปะจมูก อาบน้ำเมื่อกลับถึงบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่มีคนหนาแน่น 2. ถ้ารู้สึกตัวไม่สบาย ควรรีบรักษา หาหมอตามปกติ และ 3. หน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวยกระดับควบคุมโรคเหมือนที่กำลังทำอยู่ได้สร้างความพอใจให้กับประชาชนแล้ว จึงจะไม่ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาปากท้องและการทำมาหากินขัดสนของประชาชน