xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ยันมีความพร้อมทุกด้านในการจัดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ ( 11 ต.ค.) เวลา 09.15 น. ที่ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพฯ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 24 ต.ค.2562 อันเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดกันมาตามแบบโบราณราชประเพณี โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, พล.ร.อ.จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ ร่วมแถลงข่าว พร้อมกับมีการสาธิตการเห่เรือและการแต่งกายของฝีพาย อาทิ ฝีพายเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์, ฝีพายเรือพระที่นั่ง 4 ลำ, พนักงานเห่เรือ, พนักงานท้ายเรือ และฝีพายเรือรูปสัตว์ โดยกองทัพเรือ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี เพราะพระราชพิธีการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 94 ปี นับจากรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ในปีพ.ศ.2468 นอกนั้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 8-9 ไม่ได้มีการจัดพระราชพิธีเลียบพระนครโดยขบวนพระยุหยาตราทางชลมารค และพระราชพิธีในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ขณะนี้รัฐบาลมมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีทุกด้าน

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศจะได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ด้วยการเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดสองฟากฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาที่ขบวนเรือจะเคลื่อนผ่าน และเฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีตลอดเส้นทางที่ขบวนจะเสด็จผ่านในทางบก จึงนับเป็นโอกาสอันดีของประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ ทุกสาขาอาชีพท่ีจะได้ร่วมบันทึกไว้เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาตร์ชาติไทย เพราะพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งนี้เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดตามแบบโบราณราชประเพณีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนแรกกรุงเทพมหานครได้เตรียมพื้นที่สำหรับประชาชน โดยประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับและปรับภูมิทัศน์ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าวาสุกรี ท่าราชวดิฐ สวนหลวงพระราม 8 สวนสันติไชยปราการ อีกส่วนถนนที่มีการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ถนนราชดำเนินตลอดเส้นทาง จุดใหญ่ไป จะมีสะพานผ่านพิภพลีลา ผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ คาดจะตกแต่งแล้วเสร็จภายในวันที่ 21-22 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังมีไฟประดับบริเวณถนน สะพานพระราม 8 ถนนราชดำเนินทั้งเส้น คาดว่าแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จึงอยากเชิญชวนประชาชนมาถ่ายภาพ

ก่อนหน้านี้มีการล้างทำความสะอาดทาสีเขื่อน ราวกั้นตกแม่น้ำ จัดเตรียมผ้าระบายสีเหลืองขาวตกแต่งเพื่อความสวยงาม ธงประดับอาคารบ้านเรือน ธงโบกแจกประชาชนซึ่งทุกคนจะได้รับที่จุดคัดกรอง การจัดเก็บมูลฝอยและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ปฏิบัติอยู่แล้ว โดยการซ้อมย่อยทั้งหมด 10 ครั้ง ได้ระดมเรือท้องแบน 130 ลำ เจ้าหน้าที่ 750 คน เพื่อจัดเก็บขยะ ที่ผ่านมามีการเก็บก่อนวันซ้อม 1 วัน และในวันซ้อมด้วย ครั้งที่เก็บ ผักตบและขยะอื่นๆ มากที่สุด คือวันซ้อมย่อยครั้งที่ 7 วันที่ 27 ก.ย. เก็บได้ 227 ตัน ซึ่งวันซ้อมใหญ่จะจัดเก็บต่อไป โดยตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ขณะเดียวกันจะวางแพลูกบวบเก็บขยะเช่นกัน เพื่อกันไม่ให้ขยะมากีดขวางขบวนเรือพระราชพิธี

ทั้งนี้ มีการให้บริการรถสุขา ดังนี้ จุดประจำสุขาสาธารณะต่างๆ แต่อาจจะไม่เพียงพอจึงมีการเพิ่มรถสุขาเคลื่อนที่ บางส่วนรถสุขาเคลื่อนที่ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ ได้ประสานร้านค้าบ้านเรือนบริเวณนั้น โดยจะนำสติ๊กเกอร์ไปติดไว้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านนี้ รวมทั้งการสร้างอัฒจันทร์และพื้นยกระดมรวม 6 จุด รองรับคนได้ 17,000 คน ด้านสถานที่เฝ้าฯ รับเสด็จ แบ่งเป็นสองเส้นทางจุคนได้ประมาณ 4 หมื่นคน เชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองมาเฝ้าฯ รับเสด็จ วันที่ 24 ต.ค.นี้ พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จตามบ้านเรือริมแม่น้ำจุได้ 1,000 คน ส่วนที่ 2 เป็นสถานที่ราชการ จุได้ 4,000 คน สถานที่สาธารณะ 13 จุด จุได้ 15,600 คน เช่น ใต้สะพานพระราม 8 โดยฝั่งธนบุรีจะมีการสร้างอัฒจรรย์เพื่อการรับชม ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ริมทางเดินแม่นำ้เจ้าพระยา สวนสันติชัยปราการ สวนนาคราภิรมย์

ส่วนสถานที่เอกชน ห้างร้าน ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลศิริราชและสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จุได้ 6,000 คน พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จเส้นทางไป-กลับ พระที่นั่งอัมพรสถานไปท่าวาสุกรี ระยะทาง 1.1 กิโลเมตร อีกส่วนเป็นถนนเส้นเสด็จฯ กลับ จากถนนหน้าพระลานไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร จุคนได้ 10,000 คน พร้อมกับติดตั้งจอแอลอีดี 20 จุด จำนวน 28 จอ โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดตลอดงานพระราชพิธีดังกล่าว นอกจากนี้มีการตั้งโรงครัวพระราชทานแจกอาหารและน้ำดื่ม จำนวน 7 จุด แต่ละจุดเหมือนเป็นแก้มลิงพักได้ โดย กทม.รับผิดชอบ2 จุด ฝั่งธนบุรีที่วัดอมรคีรี และฝั่งพระนครที่ริมคลองหลอดวัดราชนัดดารามวรวิหาร

พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวถึงการจัดขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค ว่า กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยกองทัพเรือได้เตรียมการฝึกมาตลอด 1 ปีเต็ม โดยใช้เรือพระราชพิธีทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลฝีพายจำนวน 2,200 นาย ความยาวของขบวนเรือประมาณ 1.2 กม.และระยะทางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ ประมาณ 3.5 กม.โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบทเห่เรือทั้งหมด3 องก์ ด้วยกันประกอบด้วย บทสรรเสริญพระบารมี (บทใหม่) บทชมเมือง และบทชมวัง ซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดโดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย

พลเรือโท จงกล มีสวัสดิ์ กล่าวถึงการฝึกซ้อมย่อยทั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมาว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้บางครั้งการฝึกซ้อมจะต้องเผชิญกับอุปสรรคทางธรรมชาติบ้าง แต่ก็เป็นการฝึกความแข็งแกร่งให้กับฝีพายทุกนาย และในวันเสด็จเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคฯ กองทัพเรือได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการคำนวณสภาพดินฟ้าอากาศและกระแสน้ำเพื่อนำมาประมวลผล เพื่อให้กระบวนพยุหยาตราเป็นไปด้วยความเรียบร้อยงดงามสมพระเกียรติ

สำหรับการฝึกซ้อมใหญ่เสมือนจริงที่จะมีขึ้นในวันที่ 17และ 21 ตุลาคมนี้ พลเรือโทจงกล กล่าวว่า ฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำจะแต่งกายเหมือนวันจริงทุกประการ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมเข้าเฝ้าฯทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี และชื่นชมความงดงามของขบวนเรืออย่างพร้อมเพรียงกัน

ปิดท้ายที่ พลตำรวจโท ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวว่า การอำนวยความสะดวกประชาชนในต่างจังหวัดที่จะการเดินทางเข้าร่วมงานพระราชพิธี โดยการรถไฟจัดขบวนพิเศษเพิ่มโบกี้เข้ากรุงเทพมหาราชการ โดยมีจุดบริการ 4 ทิศ ได้แก่ ทิศตะวันตก จังหวัดนครปฐม ทิศเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา และทิศใต้ จังหวัดสมุทรสาคร โดยให้บริการฟรี เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ มีรถชัตเตอร์บัสบริการประชาชนเข้าพื้นที่พระราชพิธี สถานที่จุดส่งลงชัตเตอร์บัส มี 6 โซน โซนที่ 1 มทร.พระนครและใต้สะพานพระราม 8ฝั่งพระนคร โซน2 ลานจอดรถกองสลาก ,สนามหลวงฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) โซน 3 แยกท่าเตียน โซน 4 ถนนอรุณอมรินทร์ 36 (ใต้สะพานพระราม8) โซน 5 สถานีรถไฟธนบุรี และโซน 6 วัดกับยาณมิตรวรมหาวิหาร

สำหรับจุดจอดรถรอบนอกและกรุงเทพฯ ชั้นกลาง จัดเตรียมพื้นที่รวม 24 จุด รองรับได้ 26,000 คัน ทิศเหนือ เมืองทองธานี ,ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ,ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสโมสรตำรวจ ทิศใต้ ลานพุทธมณฑล สาย 5 ,เซ็นทรัลศาลายา,เซ็นทรัลพระราม 2 ,โรงเรียนบางมดวิทยา และวิทยาลัยทองสุข ทิศตะวันออก พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ,เมกะบางนา ,อีเกียบางนา และไบเทคบางนา ทิศตะวันตก เซ็นทรัลเวสต์เกต และอาคารจอดรถบางรักน้อยท่าอิฐ ขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ประชาชนจอดรถได้ที่อู่จอดรถบรมราชชนนี ,สำนักงานอัยการสูงสุด ,ศาลอาญารัชดา ,อาคารจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา,ลานจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา ,สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์,แอร์พอร์ตลิ้งค์มักกะสัน, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 และท่าเรือคลองเตย

พลตำรวจโท ไกรบุญ กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้าชมขบวนเรือจะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อผ่านจุดคัดกรอง รวม 19 จุดคัดกรอง ได้แก่ มทร.พระนคร ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร พิพิธบางลำพู ทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวงด้านศาลฎีกา ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร ท่ามหาราช ท่าช้าง แยกท่าเตียน หน้าวังสราญรมย์ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี ทางเข้าท่ารถไฟ อุทยานสถานพิมุข ท่าเรือวังหลัง หน้าวัดระฆังโฆษิตาราม หน้าวัดกัลยาณมิตร วรวิหาร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 120 ชุด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ และจุดบริการทางแพทย์ 35 จุด จัดบริการในแต่ละพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด