xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ประกาศปรับสูตรยาแก้ท้องเสีย แนะผู้ประกอบการยื่นขอแก้ไขทะเบียนภายใน 6 ม.ค.63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เนื่องจากมีการตรวจสอบพบยาแก้ท้องเสียบางทะเบียนเป็นยาสูตรผสมที่มียาต้านจุลชีพมากกว่า 1 ตัว ซึ่งไม่เหมาะสมในทางการแพทย์ เพราะเพิ่มความเสี่ยงแพ้ยาและเพิ่มโอกาสในเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินจำเป็น บางสูตรมีการผสมรวมกับยาดูดซับ เช่น Kaolin อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา ทำให้อาการของโรคลุกลามมากขึ้น อาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 279/2562 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีข้อบ่งใช้แก้ท้องเสียชนิดรับประทานสำหรับมนุษย์ ที่มีส่วนประกอบด้วยยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) นีโอมัยซิน (Neomycin) หรือไดไอโอโดไฮดรอกซิควิน (Diiodohydroxyquin) รวมถึงชื่อสามัญทางยาอื่นที่หมายถึงยาไดไอโอโดไฮดรอกซิควิน

นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 67 ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 52 ยาอันตราย ฉบับที่ 33 รวมถึงประกาศ อย. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายยาชนิดรับประทานสำหรับมนุษย์ ที่มีส่วนประกอบของยาดังกล่าว

ทั้งนี้ คำสั่งและประกาศฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า ยาแก้ท้องเสียที่มีส่วนประกอบตามรายละเอียดในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องยื่นคำขอแก้ไขทะเบียนตำรับยาภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 6 มกราคม 2563 หากพ้นกำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่ไม่ได้แก้ไขทะเบียนตามกฎหมายต่อไป

สำหรับคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้แก้ไขทะเบียนยาแก้ท้องเสียที่มีส่วนผสมของยาดังกล่าว 2 แนวทาง คือ 1.แก้ไขให้เป็นตำรับยาเดี่ยว คือ ต้องเป็นยาฟูราโซลิโดน หรือนีโอมัยซิน หรือไดไยโอไฮดรอกซิควิน เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมีการกำหนดว่า ยาแต่ละตัวใช้สำหรับรักษาท้องเสียสำหรับเชื้อชนิดใด และต้องใช้ขนาดยาจำนวนเท่าใด เช่น ยาฟูราโซลิโดน ใช้รักษาอาการท้องเสียจากเชื้อ Giardia  lamblia,  Vibrio cholera และแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป รับประทาน 5-8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ขนาดสูงสุดไม่เกิน  400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นต้น และ 2. หากต้องการคงสูตรตำรับยาเดิมไว้ เช่น ยังคงเป็นตำรับยาที่มียาต้านจุลชีพมากกว่า 1 ตัว ให้ยื่นเอกสารหลักฐานทางวิชาการเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพสูตรผสมนั้น หรือหากมีการผสมยาดูดซับ ให้ยื่นข้อมูลการทดสอบ ความเข้ากันได้ของสูตรตํารับ ข้อมูลความคงสภาพของสูตรตํารับ ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์ และหลักฐานทางวิชาการเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพ ของตํารับยาสูตรผสมนั้น นอกจากนี้ ยังให้แก้ไขฉลากยาเหล่านี้จาก "ยาอันตราย" เป็น "ยาควบคุมพิเศษ" และให้เพิ่มข้อความ "ใช้เฉพาะสถานพยาบาล" หรือ "ใช้เฉพาะโรงพยาบาล"