นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงประเด็นข้อกังวลต่อการเตรียมกู้เงินของรัฐบาลที่อาจส่งผลต่อภาระหนี้และการบริหารจัดการในอนาคต ว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงจัดทำนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมุ่งการลงทุนเพื่อการพัฒนา สร้างรายได้ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มศักยภาพของภาคเอกชนในการลงทุนและการจ้างงาน
ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจะต้องใช้เพื่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งการลงทุนที่ผ่านมาก็ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา ตัวอย่างโครงการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งโครงการพัฒนาเชิงสังคม เช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาด้านการศึกษา และพัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคทั่วประเทศ นั่นหมายถึงว่าเงินกู้ทุกบาทของรัฐบาลก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมายังประเทศ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2561 ที่ผ่านมา จีดีพีและรายได้ของรัฐบาลมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ