นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า มีชาวบ้านในพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และใน จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนมายังสมาคม ฯ เพื่อขอให้เป็นธุระในการร้องเรียนกล่าวโทษผู้บริหารกรมธนารักษ์ และกรมศิลปากรใน 2 กรณีดังนี้
กรณีที่ 1 ตามที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารทั้งแถบในที่ดินราชพัสดุในเขตเทศบาลเมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 จนเสียหายทั้งหมด ต่อมาธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา และเทศบาลเมืองปัก ได้เห็นชอบให้มีการจัดทำผังและก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ทดแทนเพื่อให้ชาวบ้านรายเดิมได้ใช้สิทธิเช่าอาศัยกันต่อไป แต่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงผังและแบบก่อสร้างใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เช่าบางรายที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนด โดยไม่ได้มีการยกเลิกผังเดิมที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายแล้ว จนทำให้ผู้เช่าเดิมเดือดร้อนและเสียหาย กลายเป็นข้อขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี จวบจนปัจจุบัน
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การกระทำของธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา และเทศบาลเมืองปัก อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ โดยใช้กลไกของอำนาจรัฐที่อยู่เหนือประชาชนคนยากคนจน กระทำการเปลี่ยนแปลงผังแบบแปลนการก่อสร้างอาคารใหม่ไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ขัดต่อ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ 2562 และ พ.ร.ป. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยชัดแจ้ง
กรณีที่ 2 ตามที่กรมศิลปากรได้ว่าจ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดยให้ผู้รับเหมาดำเนินโครงการขุดวางแนวสายเคเบิลเพื่อวางระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ที่วัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโบราณสถานมีอายุกว่า 400 ปี เป็นเหตุให้อิฐและกำแพงโบราณถูกทำลาย เพื่อเปิดทางในการวางสายเคเบิล-สายไฟฟ้าลงดิน แทนที่จะขุดเป็นอุโมงค์ลอด จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศในขณะนี้นั้น
แม้กรณีดังกล่าวรองอธิบดีกรมศิลปากรจะอ้างว่าเป็นอิฐกำแพงใหม่ เมื่อดำเนินการวางสายเคเบิลเสร็จแล้วก็จะทำการก่อซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ แต่จากสภาพความเสียหายของกำแพงและอิฐแต่ละก้อนที่แตกเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นอิฐเก่าหรือไม่ ก็ต้องถือว่าเป็นการทำลายโบราณสถาน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากรมศิลปากรไม่ได้ใช้หลักวิชาการทางโบราณคดีมาปรับปรุงซ่อมแซมโบราณสถาน ไม่มีมาตรการควบคุมตามกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่ปล่อยให้ผู้รับเหมากระทำการซ่อมแซมไปเสียอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อถูกสังคมจับได้ก็มักจะออกมากล่าวอ้างแบบเอาสีข้างเข้าถู ไม่สมกับเป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานแต่อย่างใด
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กลไกการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม อาจไม่เป็นไปตามมาตรา 10 มาตรา 10 ทวิ ประกอบมาตรา 32 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. โบราณสถานฯ 2504 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และมาตรา 360 ทวิ ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากร PEA และผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมชาวบ้านทั้ง 2 จังหวัด จะนำความพร้อมพยานหลักฐานไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเอาผิดธนารักษ์พื้นที่โคราช เทศบาลเมืองปัก อธิบดีกรมศิลปากร PEA และผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาต่อไป โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันพฤหัสที่ 22 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี