xs
xsm
sm
md
lg

สธ.นำร่อง 8 จังหวัด ระบบดูแลผู้สูงอายุ จาก รพ.สู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศเพื่อพัฒนารูปแบบการยริการไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ.2562 ว่า ในปี 2573 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งสิ่งสำคัญคือการปรับรูปแบบบริการสุขภาพให้เหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุมักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือทุพพลภาพ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้จัดการดูแล (Care Manger) ปัจจุบันได้ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นโครงการที่ 3 ในการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุเชิงบูรณาการแบบไร้รอยต่อ ตั้งแต่สถานพยาบาลสู่ชุมชน ระยะเวลา 5 ปี หรือสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ใน 8 จังหวัดนำร่อง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต โดยส่งต่อผู้สูงอายุกลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บที่ไขสันหลัง โรคจากอุบัติเหตุ จากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง ไปฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ในระยะหลังภาวะวิกฤต เตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน และติดตามดูแลต่อเนื่องเพื่อำป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดการติดบ้าน ติดเตียง และให้กลับมาช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่มีความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้เงินออมตั้งแต่การทำงานในภาคเอกชนมาใช้ดูแลตัวเองในช่วงสูงอายุ แต่ของเรามีปัญหาประชากรจำนวนมาก และไม่มีระบบสวัสดิการที่จะมาดูแลครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งเป็นปัญหาของผู้บริหารภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลต่อไป ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบในการดูแล ตนคิดว่าท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดจะมาเป็นหลักในการดูแลผู้สูงอายุและเราอาจจะดีกว่าคนอื่นในสังคมวัฒนธรรมของบ้านเราการอยู่เป็นครอบครัวใหญ่เป็นจุดแข็ง และมีต้นทุนของการอยู่แบบพอเพียงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทุกปัญหา ฉะนั้นต้องรักษาจุดแข็งนี้เอาไว้เพื่อลดภาระของภาครัฐ