xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคแนะ 7 วิธีขับขี่ปลอดภัยช่วงหยุดยาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ตรงกับวันแม่แห่งชาติ ในปีนี้เป็นวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน ประชาชนมักเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดหรือเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ โดยรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขอให้ระมัดระวังอุบัติเหตุทางท้องถนน เนื่องจากมีรถสัญจรจำนวนมากและอาจมีฝนตกระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ ซึ่งแม้ว่าจะมีเพียงส่วนน้อย แต่หากเกิดอุบัติเหตุก็อาจจะมีการบาดเจ็บที่รุนแรงได้

โดยสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ พบว่าในแต่ละปีเกือบร้อยละ 80 คนไทยเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือมากกว่า 17,000 คน และพบผู้บาดเจ็บกว่า 900,000 คน โดยช่วงอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-19 ปี ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มี 3 ด้าน คือ 1.จากผู้ขับขี่ (ร้อยละ 84.32) จากการขับรถเร็ว เมาสุรา ตัดหน้ากระชั้นชิด เป็นต้น 2.จากถนนและสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 21.50) ทัศนวิสัยไม่ดี มีสิ่งกีดขวาง สภาพถนนไม่ดี เป็นต้น 3.จากยานพาหนะ (ร้อยละ 2.36) จากสภาพพาหนะไม่ดี

จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกพบแนวโน้มรถขนาด 250 ซีซี.ขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 มีรถจดทะเบียนใหม่ จำนวน 63,086 คัน เพิ่มจากปี 2560 ถึงร้อยละ 23 และพบว่ารถจักรยานยนต์ที่มีขนาด 250 ซีซี. ขึ้นไป (รถบิ๊กไบค์) มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 145 ราย และปี 2559 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 285 ราย และในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 เพียงเดือนเดียว มีข่าวอุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์เกิดขึ้น 9 ครั้ง เป็นการชนท้าย 2 ครั้ง เสียหลักไม่มีคู่กรณี 4 ครั้ง ถูกตัดหน้า 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ซึ่งมีสมรรถนะสูง ผู้ขับขี่ต้องมีทักษะสูงตามไปด้วย และต้องผ่านการฝึกการขับขี่เฉพาะ เพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ในการบังคับรถที่มีทั้งความเร็วและแรง ที่สำคัญต้องเคารพกฎจราจร เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขอแนะนำผู้ที่เดินทางในช่วงวันหยุดยาวด้วย 7 วิธีขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนี้ 1. เตรียมรถให้พร้อม ตรวจเช็กสัญญาณไฟ รวมถึงสภาพยางรถ 2. ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับการขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย เช่น ทางลาดชัน ทางโค้ง ทางแยก ทางแคบ 3. ขณะหมอกลงจัดให้เปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอกให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน และลดความเร็วลง 4. ไม่ควรขับแซงหรือเปลี่ยนช่องทางการจราจรอย่างกะทันหัน หากต้องการเปลี่ยนช่องการจราจรให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร 5. ไม่ขับรถคร่อมช่องทางการจราจร หรือขับชิดด้านใดด้านหนึ่งของถนนมากเกินไป 6. กรณีเกิดฝ้าเกาะกระจกให้เปิดปุ่มไล่ฝ้าหรือเพิ่มความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และปรับกระจกลงเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้น และ 7. หากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดีและสภาพถนนจะลื่นกว่าปกติ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนกว่าทัศนวิสัยจะดีขึ้น จึงค่อยขับรถต่อไป

ทั้งนี้ กรณีที่รถเสียควรหาจุดจอดรถที่ปลอดภัย โดยจอดรถชิดริมขอบทางให้มากที่สุด เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายเตือนหรือวัสดุอื่น ๆ ที่สะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถให้ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่รายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน หากพบเห็นอุบัติเหตุควรรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422