นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “โทรคมนาคนโลกจะเปลี่ยนไป” ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอินเทอร์เน็ต และการผันโทรศัพท์มือถือไปเป็นคอมพิวเตอร์ประจำตัวที่ทุกคนขาดไม่ได้
ที่ผ่านมา เอกชนในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีต่างเข้ามาเกาะโครงสร้างหลักที่สหรัฐสร้างไว้ ซึ่งเอกชนสหรัฐก็ไม่ว่าอะไร เพราะสามารถเก็บรายได้จากการนี้
แต่เมื่อจีนพัฒนาธุรกิจนี้ อำนาจทางธุรกิจมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปมาก เพราะจีนมีฐานลูกค้าใหญ่มาก มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองต่อยอดจากของสหรัฐ และคนจีนรับนิสัยธุรกิจผ่านสมารท์โฟนอย่างรวดเร็ว
การแข่งขันที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจในอนาคต จะเป็นในเรื่อง 5จี 6จี 7จี ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาจีนพัฒนาล้ำหน้ากว่าสหรัฐ เพราะจีนปล่อยคลื่นความถี่สูงให้เอกชนใช้แต่เนิ่นๆ ส่วนในสหรัฐนั้น กระทรวงกลาโหมยังกอดคลื่นความถี่สูงเอาไว้ไม่ปล่อย
เอกชนสหรัฐย่อมทราบดีว่าหัวเว่ยจะสามารถก้าวแซงสหรัฐได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐที่จับมือกับเอกชนเพื่อประโยชน์เฉพาะของเอกชน เท่ากับทรัมป์
อันที่จริง มาตรการบีบหัวเว่ย ถึงแม้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเอกชนสหรัฐ แต่ผู้บริโภคในสหรัฐย่อมจะพลาดโอกาสที่จะใช้ของดีราคาถูกไปด้วย จึงเป็นการเฉือนเนื้อชาวบ้านไปให้ธุรกิจโทรคมนาคมสหรัฐโดยอัตโนมัติ
ล่าสุด คำสั่งฉุกเฉินที่ทรัมป์ประกาศห้ามธุรกิจระหว่างบริษัทอเมริกันกับหัวเว่ย ได้ลามไปจนบริษัทกูเกิ้ลต้องยุติไม่ให้ผู้ใช้มือถือหัวเว่ยใช้บริการบางอย่าง
ถึงแม้ไม่กระทบผู้ที่มีมือถืออยู่แล้ว แต่กลุ่มนี้ก็จะใช้ได้เฉพาะแอปแบบพื้นฐานเท่านั้น ส่วนแอปที่มีการพัฒนาเพิ่มเติม ต่อไปลูกค้าหัวเว่ยจะไม่มีสิทธิใช้
ถามว่า หัวเว่ยจะแก้สถานการณ์อย่างไร
ในอนาคต คาดว่าหัวเว่ยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจีน เพื่อใช้แทนที่ของสหรัฐ และจะต้องลามไปให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่งจะทำให้โลกของโทรคมนาคมแบ่งเป็นสองข้าง สหรัฐกับจีน
ประเทศอื่นๆ ก็ควรจะต้องเหยียบเรือสองแคม คือใช้โลกทั้งสองข้าง ซึ่งจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะสหรัฐจะไม่สามารถสอดแนมการใช้งานในโลกข้างของจีนได้เหมือนเดิม
ในอดีต สหรัฐร่วมมือกับอิสราเอลทำโปรแกรมสอดแนมอินเทอร์เนตทั่วโลก เคยมีกรณีเพื่อนของผมคนหนึ่ง มีการส่งอีเมล์ถึงคนนามสกุล บินลาเดน ซึ่งเป็นนายธนาคาร ปรากฏว่าสำนักข่าวกรองสหรัฐส่งข้อมูลมายังไทย เพื่อขอให้สืบให้แน่ใจว่าไม่เกี่ยวกับการก่อการร้าย
ถ้ามีโลกของจีน สหรัฐจะขาดกำลังที่จะสอดแนมการเงินสำหรับก่อการร้ายไปอย่างหนัก และแม้แต่การควบคุมแซงชั่น ก็จะหลุดมือออกไปได้
แต่ปัญหาสำหรับหัวเว่ย คือโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้องใช้เวลา ทั้งในการจัดตั้ง และในการชักชวนคนหนุ่มสาวที่พัฒนาแอปให้สหรัฐ ให้มาเขียนโปรแกรมใหม่ให้หัวเว่ย
อย่างไรก็ดี จีนมีจุดต่อรองตรงที่ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายาก (rare earth) ถึง 90% ของโลก และสหรัฐนำเข้าแรร์เอิร์ธจากจีนถึง 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแหล่งซื้อจะต้องใช้เวลาเช่นกัน
เนื่องจากแรร์เอิร์ธเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช่สำหรับชิ้นส่วนโทรคมนาคม จึงต้องติดตามว่าจะมีการเอาประเด็นนี้มาต่อรองหรือไม่