xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.เร่งแก้ปัญหาตัวริ้นน้ำจืด-ไรแดงระบาดในคลองประเวศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาคุณภาพน้ำคลองประเวศตลอดสายที่พบการแพร่ระบาดของตัวริ้นน้ำจืดและไรแดงจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานีสูบน้ำพระโขนงอย่างมาก สทนช.พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และ ส.ส.ในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ และเร่งหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาตัวริ้นน้ำจืดและไรแดงระบาดตลอดคลองประเวศ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในน้ำ เพื่อนำไปแยกชนิดและวิเคราะห์อย่างละเอียด พบว่า คุณภาพน้ำมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจืด คือ มีค่าความเค็มถึง 1.1 กรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร ขณะที่ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) มีเพียง 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร จากค่ามาตรฐานที่ไม่ควรต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร

ขณะเดียวกัน ยังพบกลุ่มสัตว์หน้าดินที่บ่งชี้ถึงคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำที่มีความสกปรกสูง ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่ร้อนยาวนาน ทำให้การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของริ้นน้ำจืดและไรแดงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าริ้นน้ำจืดและไรแดงจะไม่นำเชื้อโรคมาสู่คนก็ตาม แต่ก็สร้างความรำคาญและรบกวนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอย่างมาก



เลขาธิการ สทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนพ่นยาเพื่อกำจัดริ้นน้ำจืดอย่างต่อเนื่อง แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วนและระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จึงเพิ่มมาตรการจัดการ คือ กรุงเทพมหานครได้นำเครื่องจักรเข้ามาจัดเก็บสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในน้ำบริเวณโดยรอบ รวมถึงการติดตั้งเครื่องตีน้ำและได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อผลักดันน้ำออกสู่ทะเลเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรชีวิตและลดการวางไข่ของของริ้นน้ำจืดและไรแดง และเพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สทนช. โดยศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (ศอน.) ได้ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และที่ปรึกษาชุมชนเกาะกลาง วางแผนการบริหารจัดการน้ำในคลองประเวศ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยการยกระดับน้ำด้านหน้าสถานีสูบน้ำให้มีระดับสูงสุด ในช่วงเวลาที่ระดับน้ำเจ้าพระยาลดลงต่ำสุด ทำให้ระดับน้ำแตกต่างกันประมาณ 1.50 เมตร แต่ระดับน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และจะทำการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวต่อเนื่อง 3 วัน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อที่จะให้ไข่ของริ้นน้ำจืดและไรแดงไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและไหลต่อเนื่องออกสู่ทะเลต่อไป ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานหลังเปิดประตูระบายน้ำครบทั้ง 3 วัน พบว่ามีแมลงริ้นน้ำจืดเหลือเพียงเล็กน้อยถึงไม่มี ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้ สทนช.จะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการในระยะต่อไปด้วย