พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนโดยรวมอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าดี แต่ถ้าลงในรายละเอียด จะพบว่าเขื่อนบางแห่งมีน้ำมาก บางแห่งมีน้ำน้อย และสิ่งที่น่าระมัดระวังคือ พบว่าจำนวนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุทั้งหมดนั้น มี 20 เขื่อน หมายความว่าการบริหารจัดการน้ำในแต่ละเขื่อนจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ส่วนปริมาณน้ำที่มีน้อยในขณะนี้เทียบเคียงได้กับเมื่อปี 2558 สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน โดยมี 7 เขื่อนที่มีน้ำน้อยมาก
ทั้งนี้ การที่น้ำในเขตชลประทานลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะมีการปลูกพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ประมาณ 1.3 ล้านไร่ ซึ่งทำให้ต้องใช้น้ำจำนวนมากไปดูแลพืชผล เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียประโยชน์ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานมีการปลูกพืชจำนวนมากเกินเช่นกัน ประมาณ 1.4 แสนไร่ ดังนั้น ตนได้ประชุมและกำหนดแนวทางกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าต้องจัดลำดับการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด โดยต้องระมัดระวังไม่ควรให้มีการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ถ้าพื้นที่ใดมีการปลูกพืชแล้ว ก็ต้องพยายามดูแลให้ดี
ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศด้วย รวมถึงต้องไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค และดูแลเรื่องน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมด้วย ถ้าพื้นที่ใดที่มีน้ำในผิวดินและน้ำใต้ดินไม่เพียงพอ ต้องมีการขนน้ำมาจากแหล่งน้ำอื่นไปช่วยประชาชน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวคาดการณ์ว่า ฤดูแล้งนี้พอจะผ่านไปได้ เพราะยังคงมีพื้นที่ 10 อำเภอใน 4 จังหวัดซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง แต่ต้องระวังเรื่องของฤดูฝนที่กำลังจะมา แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประเมินว่าจะมีฝนตกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม แต่ยังไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และข้อมูลที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศของต่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่าในปี 2562 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งถ้ามาเกิดในประเทศไทย จะทำให้เรามีปริมาณฝนน้อย ส่งผลให้เราต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ในเรื่องของน้ำในพื้นที่เขตชลประทานและพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอร้องประชาชนทั่วไปใช้น้ำอย่างประหยัดและระมัดระวัง
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการส่วนราชการต่างๆ ด้วยว่า ให้นำรูปแบบเมื่อปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำน้อยเช่นกัน มาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้ อย่างไรก็ตาม หลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ตนจะไปลงพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อกำกับดูแลการแก้ปัญหานี้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฉัตรชัย ยืนยันว่า การใช้น้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะไม่มีผลกระทบในเรื่องการใช้น้ำโดยรวม เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว แต่ขอให้ประชาชนทุกคนใช้น้ำอย่างระมัดระวังด้วย