xs
xsm
sm
md
lg

'วี วอทช์'ยื่น 5 ข้อเสนอให้ กกต.เร่งกู้วิกฤตศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพีรวิชญ์ ขันติสุข ฝ่ายวิเคราะห์ผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของเครือข่ายวี วอทช์ (We Watch) เปิดเผยว่า จากการส่งอาสาสมัครลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา กว่า 1,500 หน่วยเลือกตั้ง พบว่าประชาชนร้อยละ 90 มารอใช้สิทธิก่อนเวลาเปิดหีบ ร้อยละ 16 มีโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครตั้งอยู่รอบหน่วยเลือกตั้ง และในจำนวนนี้มีร้อยละ 1.1 อยู่ห่างจากคูหาเลือกตั้งไม่ถึง 20 เมตร ซึ่งส่วนนี้กกต.ชี้แจงว่าเป็นดุลพินิจกรรมการประจำหน่วย ร้อยละ 33.33 ไม่มีการแจ้งแก้ไขรายชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบให้ประชาชนทราบ ที่น่าสนใจมีการเอากระดาษเปล่ามาปิดทับรายชื่อผู้สมัครทั้งที่ไม่ใช่คนที่ถูกตัดสิทธิ แต่กรรมการประจำหน่วยยืนยันว่าคนนี้ถูกตัดสิทธิ

นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 1.2 ไม่มีการตรวจบัตรประชาชน หรือบัตรที่ออกโดยราชการ ร้อยละ 4 ผู้ใช้สิทธิไม่สามารถออกเสียงได้อย่างเป็นส่วนตัว เพราะคูหาด้านหลังเปิดกว้าง มีคนเดินตลอด สามารถมองเห็นว่ากำลังเลือกใคร บางหน่วยฯ ไม่มีการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกกลุ่มคนพิเศษ เช่น ผู้พิการ

ขณะที่ร้อยละ 1.6 ไม่อนุญาตให้มีการสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง และยังพบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกของการเลือกตั้ง เข้าไปอยู่ในคูหาที่กำลังมีผู้ใช้สิทธิ มีการปฏิบัติงานแทนเจ้าหน้าที่ และมีการพกอาวุธ

สำหรับการปิดหีบเลือกตั้งนั้นไม่มีปัญหา ปิดได้ตามเวลา แต่ที่เป็นปัญหาคือ ร้อยละ 19.1 ไม่มีการเจาะบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งตามคู่มือประจำหน่วยเลือกตั้งระบุว่าต้องทำเพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ต่อ

ขณะที่ขั้นตอนการนับคะแนนนั้น ร้อยละ 99.8 เป็นการนับคะแนนเปิดเผย แต่มีเคสไม่มีการแสดงบัตรให้ประชาชนดูชัดเจน จุดที่นับคะแนนอยู่ไกลสายตา ทำให้มองไม่เห็นว่าเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย อย่างไรก็ตาม บัตรที่นับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบัตรดี หรือบัตรเสีย กรรมการประจำหน่วยจะต้องเจาะบัตรด้วยเหล็กแหลม หรือตุ๊ดตู่ แต่กลับมีหลายหน่วยที่ไม่ได้ทำ

นายพีรวิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องการแสดงผลของ กกต. ครั้งแรกพบผู้มาใช้สิทธิมากกว่าผู้มีสิทธิ ซึ่งต่อมา กกต.ชี้แจงว่าเป็นความขัดข้องทางเทคนิคของระบบรายงานผล ซึ่งขัดกับหลักสากล และฟังไม่ขึ้น และล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม คะแนนที่ประกาศ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างไม่เป็นทางการ บัตรที่ถูกใช้กับตัวเลขผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน อีกทั้งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มมาประมาณ 34,000 คน จากที่เคยประกาศไว้ ซึ่งเป็นที่น่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ กรณีบัตรเสียครั้งนี้พบถึงร้อยละ 5.7 อาจจะมองว่าไม่เยอะเพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 มีจำนวนบัตรเสียใกล้เคียงกัน แต่การเลือกตั้งปี 2540 บัตรเสียน้อยกว่านี้มาก และตามหลักสากลระบุว่าบัตรเสียไม่ควรเกินร้อยละ 4 และจากข้อมูลค่าเฉลี่ยบัตรเสียที่เกิดขึ้นทั่วโกลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 เกือบ 3 เท่ากับว่าบัตรเสียของไทยเกินค่ามาตรฐานโลกมาเกือบเท่าตัว เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาว่าบัตรเสียมากขนาดนี้ กกต.กำลังทำอะไรกันอยู่

นอกจากนี้ ที่น่าตกใจคือ เว็บไซต์ Change ซึ่งมีผู้มาลงชื่อถอดถอน กกต.มากเกือบล้านคน มากที่สุดในรอบ 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า กกต.มีการจัดการเลือกตั้งไม่เท่าเทียมกันหลายๆ อย่าง

ขณะที่นายสาเล็ม มะดูวา ผู้ประสานงานภาคกลาง กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อ กกต.5 ข้อ คือ 1. กกต.ต้องเปิดเผยผลการนับคะแนนแบบแมนนวลเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ผู้เชี่ยวชาญควรเข้ามาตรวจสอบแอปพลิเคชันนับคะแนน กระบวนการการทำงาน และการป้องกันการถูกเจาะระบบ 3. ให้ความรู้ต่อกระบวนการการเลือกตั้งต่อผู้มาใช้สิทธิ 4. กกต.จัดให้มีแบบแผนปฏิบัติเพื่ออบรมกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งให้มีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน มีการสื่อสารที่ครอบคลุม และ 5.ให้ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ประชาชนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ถูกนับ รวมถึงการเปิดช่องทางให้ภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้



ทางด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ กกต.กำลังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น การจะนำศรัทธาจากประชาชนคืนมาได้ กกต.ต้องทำให้เห็นถึงความยุติธรรม ดังนั้น ตนเห็นว่าควรให้เวลากับ กกต.ได้ทำงานเพื่อฟื้นคืนทรัทธาของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม