xs
xsm
sm
md
lg

รายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ( 8 มี.ค.62)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชนกวนัน- สวัสดีค่ะคุณผู้ชม นี่คือรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่ยืนอยู่ทั้งหมดนี้นะคะ คือแขกรับเชิญของวันนี้ โอ้โหวันนี้แขกรับเชิญแน่นแฟ้นมาก เดี๋ยวเราทั้ง 4 คนจะรอต้อนรับท่านนายกฯ ต้องขอสวัสดีนะคะ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สวัสดีค่ะ

นายกฯ- สวัสดีทุกคนนะครับ

ชนกวนัน-วันนี้ ตุ๊ก ชนกวนัน ขออนุญาตดำเนินรายการนะคะ สำหรับศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้เรามีแขกรับเชิญมาเพียบเลยค่ะ 3 ท่าน แต่ละท่านนี่โอ้โห เหมือนเป็นปราชญ์ประจำแต่ละจังหวัด เดี๋ยวจะขออนุญาตแนะนำให้น้องๆ ในรายการได้รู้จักแต่ละท่านด้วย เรียงตามอย่างไรดีคะ

เดช- ตามอายุได้เลยครับ

ชนกวนัน- ท่านแรก ลุงเดช พุ่มคชา ถือว่าเป็นเกษตรกรที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างตลอดชีวิต เป็นคนที่บอกว่าตัวเองโชคดีได้ใช้มาตั้งแต่เกิด แล้วยังทำงานด้านอาสาพัฒนาชุมชนมาเกือบ 50 ปี ตอนนี้ 74 ปีแล้ว แม้ว่าจะดูหนุ่มกว่าอายุก็ตาม กระเถิบไปตามอาวุโส ก็จะเป็นทางนั้นเลยค่ะ คุณจตุรงค์ พลบูรณ์

จตุรงค์-หรือเรียกลุงรงค์ก็ได้ครับ

ชนกวนัน- ลุงรงค์ โพธาราม แล้วตอนนี้นะคะ

จตุรงค์- สวัสดีครับ

ชนกวนัน- นอกจากงานแสดงนะคะ งานที่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นตลกชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ก็มีที่โพธารามด้วย

จตุรงค์- คือกลับไปเลี้ยงหมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา กบ เลี้ยงทุกอย่างเลย เศรษฐกิจพอเพียง แล้วให้ญาติพี่น้องครอบครัวได้มีงานทำกันทุกคน

ชนกวนัน- ท่านที่ 3 นะคะ คุณอุ้มฮุ้ม ชื่อจริง คุณคณาภรณ์ ธนูธรรมเจริญ อันนี้เป็นคนรุ่นใหม่ เหมือนเป็น Young Smart น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง อันนี้ก็ถือว่าเป็นรุ่นใหม่ๆ มาไกลเลยค่ะท่าน จากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ละท่านมีของฝากมาข้างหน้า อย่างนั้นให้อธิบายของตัวเองแบบสั้นๆ สักนิดหนึ่ง เริ่มที่ลุงเดช

เดช - กระผมมีน้ำตาลทำจากต้นนะครับ น้ำตาล 100% ไม่เจือปนอะไรทั้งสิ้น มีกล้วยหอม แล้วก็มีส้มโอ ซึ่งอินทรีย์ทั้งหมดเลย ทั้งหมดนี่ห่อหุ้มด้วยใบมะพร้าวจากยอดต้น อันนี้จะเอาไปทำไม้กลัดได้อีกด้วย จากอัมพวาครับ อันนี้จากบรรพบุรุษ บรรพบุรุษเริ่มสวนนี่ 150 ปี แล้วตกทอดมาถึงผม ปัจจุบันนี้ผมกับลูกหลานก็ดูแล ใช้สวนนี้เป็นจิตวิญญาณ แล้วก็เคลื่อนทำงานเรื่อยไป เราไม่เคยร่ำรวย แต่เราก็สุขทุกวัน

จตุรงค์- ส่วนของลุงรงค์ นี่เป็นไข่ไก่กับไข่เป็ดที่เราเลี้ยงเอง ที่เราผลิตออกมาได้เอง ไก่มันคลอดออกมา หรือเป็ดมันคลอดออกมาเป็นไข่ที่เราสามารถที่จะเก็บมาฝากท่านนายกฯ ได้ครับ

ชนกวนัน- ฟาร์มของลุงรงค์ก็จริงๆ แล้วเดี๋ยวมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ ไข่นี่เป็นหนึ่งอย่าง เลี้ยงอยู่หลายชนิดเหมือนกัน

จตุรงค์- หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา กบ

นายกฯ-หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา กบ ครบเลย บนบก ในน้ำ

จตุรงค์ - แล้วก็มีปลูกพืชทุกอย่างเลย มีกะเพรา อะไรทุกอย่าง ข้าวโพดมีหมดเลยครับ

นายกฯ- เหมือนกับปลูกพืชผสมผสานใช่ไหม

จตุรงค์ - แล้วทุกคนมีงานทำ ลูกหลานมีงาน 20 กว่าชีวิต ที่เป็นลูก เป็นเหลนเป็นหลานของพ่อแม่เรา อยู่ในฟาร์มหมดเลย แล้วมีรายได้

นายกฯ - เกิดความอบอุ่นในครอบครัว

จตุรงค์ - พ่อแม่ไม่ต้องรอวันปีใหม่กับวันสงกรานต์ พ่อแม่ได้เห็นลูกทุกวันเลย

ชนกวนัน - ส่วนน้องเล็กสุดของเรา คุณอุ้มฮุ้มนะคะ นี่เขาเป็นคุณอุ้มก่อน จนเขาทำที่ฝางจนเขียวขจี กลายเป็นอุ้มฮุ้ม วันนี้น้องอุ้มเอาอะไรมาบ้าง

คณาภรณ์- ของผมเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นพริกไทยดำกับข้าวกล้องอินทรีย์ ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป รายแรกของ อ.ฝางด้วยครับ แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราที่เราปลูกขึ้นมา เป็นถั่วแดงกับกาแฟ เป็นกาแฟคั่วมือทำขบวนการเอง

ชนกวนัน- มาดูพริกไทย นี่ค่ะพริกไทยโอทอป

คณาภรณ์- ตั้งใจปลูกขึ้นมาในระบบอินทรีย์ ที่สวนเราทำเป็นเกษตรยั่งยืน เป็นวนเกษตรผสมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ แล้วพอมันอยู่ได้ ทำให้เราพอเพียงในการดำรงชีวิต

นายกฯ- ทุกอย่างนี่อยู่ในกระบวนการผลิตแล้ว จำหน่ายได้แล้ว มีการบริโภคแล้ว ผมขอเท้าความก่อนได้ไหมว่า คืออะไร อย่างไร จริงๆ แล้วเป็นเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช่ไหม ท่านทรงพระราชทานครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ของเรานี่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวกับนิสิตนักศึกษา ดำรัสไปอย่างนั้น จากนั้นมาก็มีการขับเคลื่อนมา รัฐบาลนี้จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มากยิ่งขึ้น เราขับเคลื่อนไปหลายอย่างด้วยกัน เดี๋ยวผมจะพูดต่อตรงนี้นิดหนึ่ง แต่ตอนนี้เราต้องเข้าใจคำนี้ก่อน ไม่ใช่ท่องอย่างเดียวใช่ไหม พี่ต้องเข้าใจว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อย่างไรที่เขาพูดกันอยู่เสมอ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ของเศรษฐกิจพอเพียง ว่าพอเพียงคืออะไร 3 ห่วงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือความรู้กับคุณธรรมใช่ไหม ทั้งหมดจะประกอบกันขึ้นมา แล้วในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนี่ ไม่ได้ใช้เฉพาะเรื่องเกษตรอย่างเดียว แต่ใช้ทุกเรื่องใช่ไหม ชีวิตก็ได้ ประกอบอาชีพก็ได้ การลงทุนก็ได้ รัฐบาลก็ใช้ได้ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องดูแผนงานโครงการ ดูเรื่องงบประมาณว่าจะคุ้มค่าไหม มีเหตุมีผลในการลงทุนไหม อะไรต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำตรงนี้ด้วย แต่ต้องผ่านกลไกพวกเรานั่นแหละ เพราะฉะนั้นวันนี่ ผมคิดว่าการเกษตรนี่มีการสืบทอดกันมาโดยตลอด ตั้งแต่รุ่นก่อนคุณลุงก็มี ปู่ ย่า ตา ยาย ประสบการณ์แล้วก็อะไรเป็นปราชญ์ชาวบ้านใช่ไหม จากนี้มา รุ่นก่อน มารุ่นนี้ แล้วกลับมาต่อรุ่นนี้ แล้วรุ่นหลังๆ ที่จะตามมาต่อมาอีกทั้งหมด 3 รุ่น ทีนี้เศรษฐกิจพอเพียงนี่ พัฒนามาให้คนไทยใช้มานานแล้วใช่ไหม

คราวนี้วันนี้ก็แพร่ไปต่างประเทศ แล้วรัฐบาลนี้ไปพูดในเวทีนานาชาติ ผมเองในฐานะที่ไปเป็นประธานการประชุมกลุ่ม G77 แล้วผมได้เอาเรื่องนี้ไปขับเคลื่อนเป็นวาระการประชุม ได้รับการตอบสนองเยอะ มี 30 ประเทศที่เอาไปใช้แล้ว บางส่วนตอนผมเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมก็เอาเรื่องนี้ไปขับเคลื่อน ตอนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ตอนส่งกำลังเราไปร่วมสันติภาพต่างประเทศ ซูดานบ้าง อะไรบ้าง ทหารทุกคนต้องรู้เรื่องทฤษฎีใหม่ ต้องรู้เรื่องพอเพียง ไปสอนเขาปลูกพืช ไปสอนเขาเลี้ยงสัตว์ บางประเทศเขาทำไม่เป็น

เขาพูดกับผมว่าอย่างไร เขาบอกขอบคุณประเทศไทย แล้วยินดี ชื่นชม อิจฉา ว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ยอดเยี่ยม เขาพูดกับผมอย่างนี้ ผมสะท้อนอกนะ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องสำนึกเรื่องนี้ ในเมื่อคนอื่นเขาสำนึก แล้วเราจะไม่สำนึกหรือ แล้วท่านให้ทำอะไร เกษตร น้ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีแด่น้ำ นั่นแหละคือสิ่งที่ท่านรับสั่งมาแล้วทั้งหมด อันนี้คือความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

อีกอันที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเอาไว้คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจ เข้าถึงคืออะไร คนเข้าถึง คนเข้าใจพื้นที่ เข้าถึงคนเหล่านี้ เข้าถึงปัญหาทุกตัว ถึงจะกลั่นกรอง วิเคราะห์ มาได้ เราจะทำอะไรกันต่อไป นั่นคือแนวทางในการพัฒนาประเทศ นั่นเขาเรียกว่า ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งว่า สิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงทำไว้มากมายมหาศาล ทำครบหรือยัง ทำให้ครบ สืบสาน รักษา ต่อยอด เน้นคำว่าต่อยอดสำคัญที่สุด นี่อย่างไร ต่อจากลุงไปน้องนี่ เขาไปสู่หลานเขา ไปสู่เด็กตรงโน้น ใช่ไหม

ชนกวนัน- ทั้งสามท่าน เขามีคำถามจากการที่เขาใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินชีวิต ดำเนินอาชีพ ก็เลยมีคำถาม เริ่มที่น้องอุ้มก่อน

คณาภรณ์- ตัวผมเองเป็น Young Smart Farmer ของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนะครับ จึงอยากจะทราบว่า มีโครงการที่มีแผนในระยะยาวที่อยากจะช่วยขับเคลื่อนเกษตรกร ให้มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นไหมครับ

นายกฯ- การที่มี Young Smart Farmer เพิ่มขึ้น วันนี้เราก็สนับสนุนทั้งการสร้างเครือข่าย มีแผนระยะยาวของการศึกษา เรื่องของการเกษตรต่าง ๆ 1. ศูนย์เทคโนโลยีหมู่บ้าน 2. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. มีทั้งหมด 882 ศูนย์ ตอนนี้ก็มีเครือข่ายเป็นหมื่นแล้ว กระจายไป ไปสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง แต่เกษตรเวลาให้ไปเรียนรู้ก็ไม่สนใจ ให้มาอบรมก็ไม่สนใจ ต้องไปเหนื่อย เขาก็ชิน

ผมเคยคุยกับชาวนา ชาวไร่ เราเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไหม เขาบอกไม่กล้า เพราะทำมายาวนานแล้ว แต่ลุงนี่กล้าใช่ไหม อะไรที่ไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองใช่ไหม อย่างเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นยินดีที่เข้ามาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เฉพาะแค่ประสบการณ์อย่างเดียว เทคโนโลยี ฟ้า ฝน เปลี่ยนแปลงแล้วตอนนี้ แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังลงทุนไม่ได้มากนัก เงินไม่มี เราจึงต้องจัดสรรหาให้ แต่ต้องควบคุมปริมาณดีมานด์ ซับพลาย ให้ได้แล้วกัน โครงสร้างพื้นฐานอีก มันต้องมีลอจิสติกส์ การสื่อสารสารสนเทศ เน็ตประชารัฐ

ถ้าวันนี้การค้าขาย นอกจากขายปกติแล้ว ขายด้วยออนไลน์ นี่คือสิ่งที่เราปฏิเสธตัวเองไม่ได้ ปฏิเสธโลกวันนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลายคนไม่เข้าใจ ว่าทำไมขายไม่ดี รัฐบาลหรือเปล่า รัฐบาลก็สร้างทุกอัน ไม่ว่าจะเน็ตประชารัฐของ Thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ ใช่ไหม ถ้ายังเป็นของเราเอง เราเข้าไปเลย กระทรวงพาณิชย์เขาเปิดให้อยู่แล้ว ถ้ายังไปต่างประเทศไม่ได้ ยังเล็กอยู่ ก็ขาย Thaitrade.com ถ้าได้คุณภาพดีแล้ว เดี๋ยวไปเข้า Alibaba, Amezon ขายทั่วโลก แล้วก็ Agri map หลายคนไม่รู้เลยว่าตรงไหนจะทำให้เกิดประโยชน์

ถ้าทำเกษตรกรรมแล้วไม่ได้ผล แต่อาจจะเขียนว่าเป็นพื้นที่ เกษตรกรรม แล้วจะทำกันทำไมล่ะ ก็ต้องหากิจกรรม ทางนี้ก็ดูเรื่องกฎหมายอยู่ นี่แหละที่ต้องใช้ หลาย ๆ อย่างแก้ปัญหาเหล่านี้ จะได้เข้าใจกันสักที เรื่องนโยบายอื่น เกษตรรุ่นใหม่ เงินทุนใช่ไหม สนับสนุนให้มีสถาบันการเงินภาคประชาชน กฎหมายใหม่ อีกเรื่องคือเศรษฐกิจ BCG ฝากน้องด้วย Bio Circular Green คือการเอาวัสดุที่ได้มาจากการเกษตรมาทำให้เกิดมูลค่า เช่น ใบอ้อย วัชพืช มาทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการวิจัยพัฒนามาเยอะแยะ วันนี้เราใช้คำว่า SEP For SDG

คือเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว สำหรับ SDG คือ Sustainable Development Goal 17 เป้าประสงค์ เราต้องตอบคำถามเขาด้วย เราเป็นสมาชิกเขานี่ วันนี้ต้องตอบได้เกือบหมดทุกข้อแล้ว เพราะใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน วันนี้เศรษฐกิจโลก เขามองอะไร การพัฒนาอย่างยั่งยืน เขาเพิ่งประกาศไม่กี่ปีนี่เอง ประเทศไทยมีตั้งแต่ปี 2517 แล้ว อยู่ที่เราจะทำหรือเปล่าเท่านั้นแหละ

จตุรงค์- อยากถามลุงตู่ว่า มีนโยบายอย่างไร หรือโครงการแบบระยะยาว ที่ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดความสุขในครอบครัวอย่างไรบ้างครับ

นายกฯ- สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตสำนึกต้องทำให้เกิดขึ้นได้ แรงกระตุ้นว่าเราต้องการที่จะมีความสุขกว่าเดิมไหม เราจะหมดหนี้หมดสินได้อย่างไร ถ้ามุ่งเน้นแต่จะรักความสบาย รักการไม่เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยที่ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ไปไม่ได้หรอก อย่างไรก็ไปไม่ได้ จิตสำนึกทุกคนเริ่มที่ตัวเรา เหมือนกับการปฏิรูปตัวเองนั่นเอง สิ่งต่างๆ อยากจะให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงมานำทุกอย่าง ในการใช้บริหารราชการแผ่นดินทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องเอาหลักการมาปฏิบัติด้วย และจะเกิดโครงการอื่นๆ มากมายที่มาตอบสนองพวกท่านในที่นี้ทั้งหมด เช่น ทุนการประกอบการ นวัตกรรม การศึกษาก็ด้วย นอกจากนี้ ก็คือแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร หนี้ครัวเรือน เป็นรัฐบาลเดียวที่แก้ปัญหาให้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เอาคืนมาได้เยอะแยะแล้ว ลดหนี้ เจรจา ประนอมหนี้

2.เรื่องกฎหมายขายฝาก ต้องเรียกเจ้าหนี้มา หยุดนะ ผิดกฎหมาย

3.ป่าชุมชน มีนโยบายใหม่ออกมา ป่าเศรษฐกิจ ธนาคาร Food Bank ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องไม้มีค่า 58 ชนิด อย่าลืมไปปลูกในบ้านนะ ปลูกไปทุกปีแล้วเขาจะมาวัดขนาด แจ้งไปขอจดทะเบียนเขามา ปลูกเสร็จแล้วแจ้งไปเท่านี้ต้น ไม่ใช่ปลูกไว้เพื่อตัดอย่างเดียว ไม่ตัดก็ได้ แล้วเอาไปตีมูลค่าเพื่อกู้ธนาคาร นี่เขาเรียกทรัพย์สินนะ ตัวอย่างเหล่านี้คือการปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ชนกวนันท์- ความสุขที่จะสร้างให้คนในชุมชนระยะยาวอย่างที่ลุงรงค์ถาม มันมาจากหลายภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หรือต้องได้รับความระวัง มันถึงจะได้สิ่งที่ถูกที่ตรงกับตัวเอง

นายกฯ- ต้องกระตุ้นให้เขารู้ว่ามันสำคัญยังไง
ชนกวนันท์- ใช่ไหมคะ เชื่อว่าลุงเดชมีคำถาม

ลุงเดช- คือตอนนี้โลกกำลังเฝ้ามองประเทศไทยในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ถามว่ารัฐบาลควรจะมีนโยบายมาตรการกระบวนการอย่างไร ที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงมันเป็นความสุขของชีวิตคนเล็กๆ น้อยๆ เป็นความสุขของประเทศชาติ และเป็นความสุขของโลกในอนาคต

นายกฯ- สิ่งสำคัญที่คุณลุงพูดมาสำคัญอย่างยิ่งเลย ถึงแม้เราจะมีนโยบายดีเท่าไรก็ตาม มีข้าราชการดีเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามันขาดวิธีการขับเคลื่อนที่มันถูกต้องที่มันรวดเร็วยั่งยืนได้ คือคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดครบถ้วน วันนี้ผมประกาศนโยบายมันต้องมีคนนำไปขับเคลื่อน จากขับเคลื่อนต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เราต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกันว่า เราต้องการให้ประเทศไทยเราเป็นอย่างไร
You get what you pay ถ้าท่านไม่ทุ่มเท ไม่เสียสละ ไม่เปลี่ยนแปลง ท่านก็ได้อย่างที่ท่านเคยได้มานั่นแหละ ไม่มีวันดีขึ้น ต่อไปเชิญคำถามต่อไป

ชนกวนันท์- อยากฟังคำถามจากเด็กรุ่นใหม่กันบ้าง เชิญค่ะ

ณัฐินี- ขออนุญาตถามพี่ตุ๊กนะคะ อยากจะถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าอาชีพพี่ตุ๊กคือนักแสดง เปรียบเหมือนการวิ่งระยะใกล้มันเห็นผลได้เร็ว แต่การทำเกษตรยั่งยืนมันเหมือนการวิ่งระยะไกล เลยอยากถามว่าอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยน เผื่อจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ

ชนกวนันท์- จริงๆ แล้วมันหลายมิติมากๆ ทั้งเรื่องของการปลูกฝัง ตุ๊กเชื่อว่าลุงรงค์อยากให้ลูกเป็นแบบนี้

จาตุรงค์- ใช่ครับ
ชนกวนันท์- ถ้าส่วนตัวแล้ว คือเราไม่ได้ทำเพื่อลูกทั้งหมดอยู่แล้ว การสวิตช์ขั้วไปใช้แบบนั้นก็จะเป็นเหมือนที่น้องอุ้มบอกว่า อยากทำงานแล้วมีความสุขไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เป็นนักแสดงเสร็จแล้วต้องไปบำบัดทีหลัง ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ แล้วการที่เราเป็นเกษตรยั่งยืนระยะยาวมีทุกอย่าง บางอย่างขายไม่ได้แต่ทำแล้วเอาไว้กินเอง เราพอที่จะอยู่ได้ในวันที่เราไม่รู้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่างน้อยวันที่น้ำท่วม เราพอมีอะไรกินในบ้าน ถ้าเราออกไปซื้ออะไรไม่ได้

นายกฯ- ถ้าให้นายกฯ สรุปตรงนี้เหรอ นี่คือเขามีภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันในชีวิตของเขาเองไง ไม่ใช่ว่าเขาทำเกษตรอย่างเดียวแล้วเขาอยู่ได้วันนี้ เขาต้องเลี้ยงลูก อะไรเยอะแยะ เขาทำหน้าที่เก่าเขาก็มีอยู่บ้าง แล้วเอาเงินเอาทองมาสร้างตรงนี้ขึ้นมา เพื่ออนาคตด้วย เพราะฉะนั้นเขาเตรียมความพร้อม นี่คือการสร้างภูมิคุ้มกันในอนาคต เพื่อลูกเพื่อหลานวันหน้าเขาทำงานหน้าที่อาชีพนี้ไม่ได้ เขามาสู่ธรรมชาติ ลูกเขามาทำแทนแม่เขาข้างบน สังคมก็ปลอดภัยขึ้น ครอบครัวอบอุ่นขึ้น

ชนกวนันท์- ลูกชายตุ๊ก ลูกชายพี่บ๊วย สวัสดีทุกคนด้วย มีอะไรมาถามท่านนายกฯ ไหม

นายกฯ- ไม่มีเหรอลูก

ชนกวนันท์- มีอีกสักคำถามหนึ่งไหมคะ

มนัส- จากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเกษตร ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ อยากที่จะไปทำการเกษตรมากขึ้น รวมถึงตัวผมด้วย อยากจะสอบถามพี่อุ้มว่า ถ้าผมอยากจะไปทำการเกษตรบ้างแบบเกษตรยั่งยืน จะแนะนำอย่างไรดี จะต้องเริ่มต้น แล้วเตรียมตัวอย่างไรดีครับ

ชนกวนัน- ไม่เคยรู้จักและเป็นอะไรมาเลยใช่ไหมคะ

มนัส- ครับ

ชนกวนัน- เป็นคนเมือง

นายกฯ- ชอบธรรมชาติ

คณาภรณ์- เริ่มต้นผมว่า สองอย่างต้องรู้จักตัวเองก่อน คำว่าตัวเองก็ต้องรู้ว่านิสัยใจคอเป็นอย่างไร ชอบทานอะไร จะได้รู้ว่าปลูกอะไร และที่สำคัญที่สุดต้องรู้ว่าที่ดินของเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ ลมไหลมาทางไหน น้ำ ฝนตกจะเก็บตรงไหน น้ำตกปริมาณเท่าไรต่อปริมาณตารางเมตร นี่รู้จักตัวเองก่อน และรู้จักที่ 2 คือ เริ่มรู้จักจากบริบทของชุมชน ชุมชนกินอะไร จะปลูกขายชุมชน รอบนอกเริ่มจะกินอะไร จะเป็นอย่างไร วัฒนธรรมชุมชน อาหารคืออะไร ระดับประเทศ ระดับจังหวัด อะไรอย่างนี้ ต้องมีสองอันนี้ก่อน คือรู้ก่อนรู้จักตัวเอง และรู้จักคนอื่น เริ่มต้นจากการศึกษาก่อน เตรียมความพร้อม

นายกฯ- ถ้าพูดแบบนี้ ผมสรุปง่ายๆ คือ เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณต้องรู้ใจตัวเองก่อน ใคร่ครวญดูว่าตัวเองชอบจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ชอบหวือหวา พอฟังพูดกันตรงนี้ เออดีเหมือนกัน เดี๋ยวไปดีกว่า มีคนคิดแบบนี้เยอะแล้ว แล้วก็พัง เพราะเตรียมการไม่พอ ไม่รอดไง เพราะฉะนั้นที่เขาบอกถูกต้อง คือศึกษาวิธีการ แล้ววางแผน ถ้าเราตัดสินใจแน่นอน เราจะเดินแค่ไหนก่อน ไม่ใช่ลงทุนพออยากจะเป็นแบบนี้ ต้องหาที่เยอะๆ กู้หนี้ยืมสินมาซื้อที่ ลงทุนนู้น บางอย่างมันทำไม่ได้หรอกลูก เพราะผลประโยชน์ตอบแทนมากับการผ่อนชำระของแบบนี้ไม่ทันกัน เราต้องเริ่มจากที่มีส่วนน้อยก่อน หลายคนเกษียณอายุไปแล้วชอบ อยากจะมีสวนผลไม้ อยากทำสวนเกษตรอะไรต่างๆ เอาเงินเกษียณอายุไปลงทุนหมดเลย ปรากฏเจ๊งหมดทุกราย เพราะไม่พร้อมเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต ไม่ได้ศึกษาไม่ได้เรียนรู้มาด้วยประสบการณ์อย่างลุง มันต้องเรียนรู้จากเขา เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เรียนรู้จากรุ่นใหม่ เปิดในโซเชียลในเว็บไซต์ดูว่า ทำอย่างไร เทียบกับที่ที่เรามีเหมาะกับปลูกพืชอะไร Agri map ก่อน เปิดไปดูก่อน ตรงนี้เหมาะกับการปลูกพืช ปลูกข้าวปลูกอะไรก็แล้วแต่ พืชที่ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว แล้วปลูกให้ได้ และทั้งหมดนี่เอาแค่มีผลประโยชน์ออกมา เอาไว้กิน ถ้าเหลือเอาไปแจก เกินแจกเอาไปขายแลกเปลี่ยนทำนองนี้ นี่หลักการพระเจ้าอยู่หัวหมดเลยนะ

เดช- สมมติว่าเราบอกว่าประชากรไทยวันนี้ทั้งหมด 67 ล้านคน ถ้าทำการเกษตรทั้งหมดก็คงไม่ได้ แต่ต้องแบ่งหน้าที่กันทำ แต่ว่าทุกคนนั้นต้องสั่งสอนก่อนว่า ต้องเข้าใจตัวเองว่า ชีวิตรู้จักพอ จะก่อสุขทุกสถาน ถ้าเรารู้จักพอ เป็นราชการก็สามารถทำได้ เข้าใจเกษตรไปเยี่ยมเกษตรซื้อของจากเกษตร นี่เป็นการเกษตรอย่างหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องลงไปตรงนั้น เราสามารถที่ภาษาการตลาดเรียกว่า chain of communication หรือ chain of supply ทำนองนี้ เพราะฉะนั้นข้อสำคัญที่สุด เราต้องรู้สึกว่า กระบวนการถักทอชีวิต คือกระบวนการที่คิดไปข้างหน้าแบบท่านนายกฯ พูด แล้วต้องรู้สึกว่าชีวิตจะเอาอะไร ผมอยากจะบอกว่า วันนี้ผมอายุชราแล้ว ต้องเชื่อว่าแก่อย่าเฟอะฟะ แก่ต้องมีสติ แล้วแก่จะดีต้องรู้สึกว่านี่คือคุณค่า นี่คือความหมาย เพราะว่าเด็กต่างๆ ไม่ได้เชื่อที่คุณมอง แต่เชื่อที่คุณเห็นที่ทำ เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่าอย่าสั่งสอนลูก ทำให้ลูกดูเถอะ จงเป็นเถอะ จงเป็นเท่าที่กำลังอยู่ และพยายามเข้าใจว่าประเทศนี้คือ ประเทศของการเกษตร ประเทศนี้มีศาสตร์ และมีศิลป์อยู่เต็มแผ่นดินแล้ว เผอิญว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเอามาแนะนำแล้ว จงได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เอาตรงนี้มาใส่ในหัวใจว่า ฉันจะมีคุณค่า ความหมายอย่างไรเมื่อปลายชีวิต

ชนกวนัน- คุณผู้ชมคะ เชื่อว่าเรื่องราวในวันนี้ทั้งหมด น่าจะตอบโจทย์คำถามที่เกิดขึ้นในใจบ่อยๆ ว่า ทำอะไรทำไมไม่รวยสักที ตอนเด็กๆ เราก็คิด ตุ๊กเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ที่ได้ยินทั้งหมด นโยบายของท่านนายกฯ แล้วเอาไปย่อยต่ออีกหลายๆ วัน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ คิด อาจจะรู้ว่าบางทีเราอาจกำลังพอ กำลังมีแล้วก็ได้ ไม่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้รวย และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตุ๊กเชื่อว่ายั่งยืนพอที่เราจะใช้ดำเนินชีวิตไปตลอดชีวิต วันนี้ต้องขอขอบคุณมากๆนะคะ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กราบขอบพระคุณค่ะ ขอบคุณทุกท่านเลยค่ะ ปราชญ์นักพัฒนาของเรา ลุงเดช พุ่มคชา เกษตรกรพอเพียงของเรา ลุงรงค์ โพธาราม น้องอุ้มฮุ้ม เกษตรกรรุ่นใหม่ใช้ Young Smart Farmer คณาภรณ์ ธนูธรรมเจริญ แล้วก็กลับมาพบกันใหม่วันศุกร์หน้าสำหรับศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้เราทุกคนขออนุญาตลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

นายกฯ- สวัสดีครับ

ชนกวนัน- สวัสดีค่ะคุณผู้ชม นี่คือรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่ยืนอยู่ทั้งหมดนี้นะคะ คือแขกรับเชิญของวันนี้ โอ้โหวันนี้แขกรับเชิญแน่นแฟ้นมาก เดี๋ยวเราทั้ง 4 คนจะรอต้อนรับท่านนายกฯ ต้องขอสวัสดีนะคะ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สวัสดีค่ะ

นายกฯ- สวัสดีทุกคนนะครับ