xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [15 กุมภาพันธ์ 2562]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สังคมไทยเป็น สังคมพหุวัฒนธรรม เราอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินเกิดแห่งนี้ มาหลายร้อยปีด้วยความสงบสุข ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ภายใต้ความแตกต่าง ด้วยการยอมรับและเปิดใจเข้าหากัน นั่นคือความงดงามของประชาธิปไตย เพราะถ้าทุกคนคิดและเป็นเหมือนกัน ก็คงเหมือน รุ้งกินน้ำ ที่มีสีเดียว โทนเดียว คงไม่งดงามเหมือน รุ้ง 7 สี ตามธรรมชาติ หากเปรียบประเทศเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวนี้ ก็คงเหมือนทุกๆ ประเทศ ที่มีเศรษฐกิจและสังคมที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ หรือ 3 พี่น้อง พี่คนโต เปรียบเสมือนผู้ที่มีฐานะดี มีความเข้มแข็ง ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ แม้จะพึ่งพาตนเองได้ แต่รัฐบาล หรือพ่อแม่ก็ยังคงต้องให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอยู่ สำหรับลูกคนกลางก็คงเป็นชนชั้นกลาง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากป่วยไข้ เกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชีวิตก็คงจะลำบากสักระยะ กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลก็ต้องระวังไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระทบ เพื่อให้เขาเติบโตแข็งแรงได้อย่างไม่ลำบาก

สำหรับน้องคนสุดท้องคือผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร ทั้งอาชีพอิสระ รับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึง SME และ Star-up ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ยังต้องพึ่งพาการส่งเสริมจากภาครัฐ หรือพ่อแม่อยู่มาก รวมทั้ง พี่คนโตและคนกลาง ก็ต้องช่วยพ่อแม่ดูแลน้องคนเล็ก ให้ความช่วยเหลือ–เชื่อมโยง ผูกพันกัน เหมือนที่ผมกล่าวอยู่เสมอว่า ทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลก็จะดูแล ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้ทุกคนในห่วงโซ่นี้ เข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ โดยเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก็อย่าลืมว่า ทุกคนก็ต้องไม่ปฏิเสธการพัฒนาตนเอง หาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัว ไม่ปิดตัว ไม่ปิดโอกาสตนเอง โดยรับข้อมูลข่าวสารภาครัฐอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่างน้อยก็รับฟัง หอกระจายข่าว ที่มีอยู่ทั้ง 7 หมื่นกว่า หมู่บ้านทั่วประเทศ หรือติดตามข่าวสารผ่าน แอปพลิเคชัน G News รวมทั้งช่องทางอื่นๆ ของรัฐ ที่เชื่อถือได้ด้วย เว็บไซต์รัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th/Face Book ไทยคู่ฟ้า สำนักโฆษก Face Book สายตรงไทยนิยม สำนักนายกรัฐมนตรี LINE@ข่าวจริงประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ GNEWS สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล องค์การมหาชน สพร.

พี่น้องประชาชนที่รัก 4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความสำคัญและเร่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางราง ทางทะเล ทางอากาศ ทั้งด้านสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากที่หยุดนิ่งมากว่า 10 ปี เพื่อจะเพิ่มการเข้าถึงโอกาส และการกระจายความเจริญไปยังพื้่นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่เราเรียกว่าน้องคนสุดท้องผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกิน และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใน 61 จังหวัด กว่า 47,000 หมื่นราย ใช้พื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ การพัฒนาสมาร์ทฟาร์เมอร์ มากกว่า 1 ล้านราย การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา เช่น ช่วยเหลือชาวนา 36 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 40,000 ล้านบาท และชาวสวนยาง 2.2 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 30,000 ล้านบาท เป็นต้น การระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งมีส่วนในการส่งผลให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้น การอำนวยความยุติธรรมขจัดคำกล่าว คุกมีไว้ขังคนจน โดยได้มีการตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ถึงการเข้าบริการด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ เงินค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาทิ การจ้างทนายความ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น โดย 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมราว 9,000 รายทั่วประเทศ เป็นเงินเกือบ 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขผ่านการสร้างโอกาสในการเข้าถึงมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องในกลุ่มฐานราก ได้แก่ การให้สวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14 ล้านราย การเปิดโครงการร้านธงฟ้าที่มีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมถึง 60,000 ร้าน รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐมากกว่า 4 หมื่นร้านค้า มาตรการสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านและซ่อมแซมบ้าน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 60,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้เกือบ 5.4 แสนราย โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน หมู่บ้านหรือชุมชนละ 2 แสนบาท ครอบคลุม 80,000 หมู่บ้าน และชุมชน รวม 92,000 กว่าโครงการ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเกือบ 80,000 กองทุน เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก และในยอดคงค้างสินเชื่อผู้บริโภคส่วนบุคคล มีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นร้อยละ 50.4 ของสินเชื่อรวม จากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันและเป็นการเพิ่มสินทรัพย์ให้กับประชาชน

สำหรับด้านสุขภาพได้ยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,600 บาทต่อคน พัฒนาระบบยูเซปสายด่วน 1669 ตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาทุกที่ฟรี 72 ชั่วโมง ให้ความสำคัญกับการแพทย์ระดับประถมภูมิ อาทิ ทีมหมอครอบครัว ที่เน้นการป้องกันและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด นักบริบาลชุมชน เพื่อเตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง ที่นับวันจะมีมากขึ้นๆ ไม่ให้เป็นภาระของคนในครอบครัว เป็นต้น

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือที่เป็นแบบระยะยาว ก็ได้ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,600 กว่าแปลง บนพื้นที่ 5.4 ล้านไร่

การใช้ Agri-Map เพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตร ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งการวางแผนตลาดนำการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดำเนินเนินโครงการสินค้าโอท็อป และส่งเสริมสินค้าจีไอ เลยสามารถขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ด้วยการสร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจและนำผลิตภัณฑ์โอท็อป เข้าสู่การจำหน่ายบนเครื่องบิน ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 98,000 ล้านบาท ในปีแรกของรัฐบาล เป็น 190,000 ล้านบาท ในปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน และ ส่งเสริมให้มีธนาคารชุมชน หรือ สถาบันการเงินประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นแหล่งทุนท้องถิ่น ตัดวงจรหนี้นอกระบบ ขจัดปัญหาการเข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ รวมทั้ง ผลักดัน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ฯ เพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนไม่ให้ถูกรังแก หรือถูกเอาเปรียบจากนายทุนผู้มีอิทธิพล

ในการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีการดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศ และ EEC โดยมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจจัดตั้งธุรกิจมากกว่า 3,000 ราย มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI วงเงินเกือบ 9,000 ล้านบาท ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้

ประชาชนไม่ทิ้งบ้าน ละถิ่น คงความเป็นครัวเรือนไทย ผู้สูงอายุ ลูกหลาน ก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เป็นปัญหาสังคมตามมาเหมือนในอดีตรวมทั้งได้ดำเนินการจัดทำกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ในอนาคตก็จะเกิดห่วงโซ่การผลิต แปรรูป การตลาด กระจายตัวและเชื่อมโยงกัน โดยวัตถุดิบในท้องถิ่นถูกนำเข้าสู่สายพานการผลิตและแปรรูปมากขึ้น มีการเชื่อมโยงตลาดภายในประเทศ นอกประเทศ และตลาดออนไลน์ได้ดีขึ้นกว่าในอดีต เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ลงทุนไว้ ทั้งการคมนาคม และสารสนเทศ

มาตรการทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนในการจะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และไม่ได้มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ได้วางรากฐานในการเพิ่มศักยภาพการผลิต มูลค่าสินค้าและบริการในระยะยาว รวมถึงการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะเร่งผลักดัน ก็คือการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าภาครัฐได้พยายามวางแผนในการสนับสนุนพี่น้องในชุมชนในทุกมิติ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ผมขอฝากให้เร่งรัดในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งการซ่อมบ้าน สร้างบ้านใหม่ และรวมความไปถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งจะครอบคลุมในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ ด้วย

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่หมักหมมมานานนับสิบๆ ปี พร้อมทั้งวางรากฐานการพัฒนา เพื่อวันข้างหน้า วันนี้ผมขอนำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาลนี้ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรของชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่น้อยคนนักจะมองเห็น หรือให้ความสนใจ ได้แก่

1. กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ในการที่จะดูแลทรัพยากรมนุษย์ของเรา เป็นการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ท่านรู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี มีเด็กไทยมากกว่า 670,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษาเพียงเพราะความยากจน และ

2. โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม ป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่งทะเล คืนระบบนิเวศให้กับชุมชน ช่วยลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ชาวเมือง และต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับคนไทยทั้งประเทศในอนาคต

ผมก็อยากให้ดูว่ารัฐบาลนี้ได้แก้ไขปัญหาที่คนส่วนใหญ่มองข้ามอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ในส่วนของการสร้างสวนสาธารณะ หรือทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว รัฐบาลก็จะเร่งรัดให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร และในส่วนของต่างจังหวัดทุกจังหวัด อันนี้ก็เป็นโครงการที่กระทรวงทรัพย์ฯ ได้พยายามเร่งดำเนินการอยู่แล้ว รวมความไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย รัฐบาลให้ความสนใจในทุกเรื่อง

ขอบคุณนะครับ ขอให้คนไทยทุกคนดูแลซึ่งกันและกัน มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเอง รวมทั้งดูแลชาติบ้านเมืองของเราให้สงบร่มเย็น ภายใต้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และภายใต้พระบรมโพธิสมภาร สวัสดีครับ