วันนี้ (28 ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ
โดยที่ขณะนี้กระบวนการทางนิติบัญญัติอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชามาศึกษาวิจัยอันจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับรายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาของกระบวนการด้านสิทธิบัตรที่ได้มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวนหนึ่งไว้อยู่ก่อนแล้ว แม้ว่าคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนและยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวได้สร้างความห่วงกังวลให้แก่นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่มีความประสงค์จะได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น เนื่องจากหากจะมีการดำเนินการต่อไปอาจมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิบัตรได้จากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาอาจรับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้กับผู้ยื่นคำขอดังกล่าว
เมื่อได้พิจารณาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (The Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPS Agreement) ซึ่งมีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก ที่ยอมรับให้ประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงการให้ความสำคัญต่อวัตถุประสงค์เชิงนโยบายสาธารณะของประเทศ จึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสนับสนุนและรองรับการอนุญาตให้นำกัญชามาวิจัยด้านการแพทย์ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรตามคำสั่งนี้ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้หากนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ให้ถือเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 (5) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
(1) การประดิษฐ์ที่มีกัญชา หรือสารสกัดธรรมชาติจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ
(2) สารที่มีโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับการประดิษฐ์ตาม (1)
(3) เกลือ เอสเทอร์ และอีเทอร์ใดๆ ของสารตาม (2)
ข้อ 2 เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 สำหรับการประดิษฐ์ตามข้อ 1 แล้ว แต่ผู้ขอรับสิทธิบัตรยังไม่ได้ยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 หากปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 9 (5) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร หรือสั่งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรตัดข้อถือสิทธิที่เป็นการประดิษฐ์ดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
คำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามวรรคหนึ่ง ผู้ขอรับสิทธิบัตรอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542
ข้อ 3 สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ยังคงอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายอื่นใดที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุม ผลิต ใช้ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดไว้เป็นการเฉพาะ หรือการที่ต้องได้รับการอนุมัติหรืออนุญาตตามกฎหมาย
ข้อ 4 ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ให้ข้อ 1 และข้อ 2 ของคำสั่งนี้เป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนตามข้อ 1 และข้อ 2 จนกว่าจะแล้วเสร็จ
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 30 เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 และผู้ขอรับสิทธิบัตรได้ยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามมาตรา 29 แล้ว หรือในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรนั้นไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตร รวมทั้งผู้คัดค้านในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"
ข้อ 6 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับกับคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย
ข้อ 7 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 8 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 28 มกราคม พุทธศักราช 2562
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ