xs
xsm
sm
md
lg

กนช.เห็นชอบ 2 โครงการใหญ่ภายใต้แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 2 โครงการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยโครงการแรก คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง วงเงิน 9,800 ล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม และบางเขน รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาให้คุณภาพน้ำดีขึ้นด้วย

ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการปรับปรุงคลอง ยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัยและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน รวมถึงส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 2562-2565 ซึ่งคลองดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 7,300 ไร่ และทั้งสองโครงการดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัะฐมนตรี เพื่ออนุมัติเปิดโครงการและงบประมาณภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อให้สอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปด้านทรัพยากรน้ำ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 6 ด้านหลัก ประกอบด้วย การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคที่ตั้งเป้าให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำประปาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ทั้งในส่วนของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17 ล้านไร่ การปรับปรุงการระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และการบริหารจัดการด้วยการปรับปรุงข้อกฎหมายและการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการทบทวนแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำสำหรับการบริหารจัดการน้ำและผลกระทบ โดยเปลี่ยนจากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ เดิม 25 ลุ่มน้ำ 254 ลุ่มน้ำสาขา เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา ซึ่งการแบ่งลุ่มน้ำใหม่นี้ อาจส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ที่ได้จัดสรรไปก่อนหน้านี้ จึงจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนต่อไป

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และระดับน้ำลดลงเรื่อย เหลือเพียง 3 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง ที่ยังได้รับผลกระทบ โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ขิดและเร่งช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที แต่ครั้งนี้ถือว่าน้ำท่วมไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับเมื่อปลายปี 2559 แต่มีพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหายบ้าง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและหามาตรการเยียวยาต่อไป