xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมผลักดัน 10 ย่านดังผุดสมาร์ทซิตี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ เป็นประธานประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล สมาชิกสภา กทม. เสนอญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี (Smart City) ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 15 ตุลาคม 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นรูปธรรม โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานขับเคลื่อน ประกอบกับรัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีนโยบายที่จะพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองสมาร์ทซิตี ใน 7 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ จ.ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร โดย 6 จังหวัดกำลังพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตีบางส่วนแล้ว แต่กรุงเทพมหานครกลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จึงขอให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสามาร์ทซิตีอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

สำหรับสิ่งสำคัญในการพิจารณาให้เป็นเมืองอัจฉริยะของคณะกรรมวิสามัญฯ ได้แก่ ด้านการจราจร ด้านการพลิกฟื้นที่ดิน และด้านการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการให้มากขึ้น



นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้วาระพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกรุงเทพมหานครพยายามดำเนินการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือกับสำนักนวัตกรรมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ 10 แห่ง ที่มีความเข้มข้นของนวัตกรรมและศักยภาพชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ ย่านนวัตกรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ย่านโยธี ย่านกล้วยน้ำไท ย่านลาดกระบัง ย่านคลองสาน ย่านปทุมวัน ย่านปุณณวิถี ย่านบางซื่อ ย่านเจริญกรุง และย่านพระราม 4

ล่าสุด กรุงเทพมหานครยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการเมืองอัจฉริยะ ให้สอดคล้องกับคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบรวม 13 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีคณะกรรมการ รวม 27 ราย ประกอบด้วย สภา กทม. ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร นักวิชาการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดระยะเวลาศึกษาภายใน 180 วัน